'ธนารักษ์'ผุดบ้านผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ-ไม่เกิน 4.5 แสน ต่อยอด'สวัสดิการคนจน'
"ธกส.-ออมสิน"เตรียมปล่อยกู้ลูกหนี้นอกระบบเต็มวงเงิน
หน่วยงานรัฐเร่งต่อยอดโครงการสวัสดิการ คนจน "ธนารักษ์"จับมือส.อ.ท.-แบงก์รัฐ สร้างบ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อยทุกภาค ทั่วประเทศ ให้สิทธิ์ผู้ลงทะเบียนคนจนก่อน ตั้งราคาไม่เกิน 4.5 แสนบาท ผ่อน 2.5 พันบาท ต่อเดือน ธ.ก.ส.เตรียม 1.5 หมื่นล้านช่วยลูกหนี้นอกระบบ ขณะ"ออมสิน"เดินหน้าปล่อยกู้เต็มวงเงินไตรมาส 3 นี้ "คลัง" เร่งตรวจสอบคุณสมบัติ-สรุปยอดผู้มีสิทธิภายในเดือนส.ค. ตั้งวงเงินรวม 8 หมื่นล้านบาท
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เปิดเผยวานนี้ (16 ก.ค.) ว่ากรมธนารักษ์เตรียมดำเนินโครงการบ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อย โดยนำที่ราชพัสดุที่มีอยู่ในภาคต่างๆ ทั่วประเทศมาก่อสร้างบ้าน จัดให้เป็นสวัสดิการแก่ ผู้มีรายได้น้อย โดยในลำดับแรกจะจัดสิทธิให้แก่ผู้ที่มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกับรัฐบาลในรอบนี้ก่อน เพื่อเป็นสวัสดิการเพิ่มเติมให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อยจริงๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เตรียมแผนดำเนินโครงการเสนอคณะรัฐมนตรี
สำหรับโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อยดังกล่าวนั้น ทางกรมธนารักษ์ ได้หารือกับหลายหน่วยงาน อาทิ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) การเคหะแห่งชาติ และธนาคารของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อเข้าร่วมดำเนินโครงการ ซึ่งในส่วนของสภาอุตสาหกรรม กรมธนารักษ์ได้ขอให้ช่วยจัดผู้รับเหมาก่อสร้างหรือซัพพลายเออร์สินค้าในราคาต่ำ สำหรับโครงการนี้ ส่วนธนาคารของรัฐทั้งสองแห่ง จะช่วยหนุนการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ในเบื้องต้นมีแผนที่จะนำร่องสร้างบ้านเพื่อคนจนทุกภาคของประเทศแต่ละภาคจะต้องมีการก่อสร้างบ้านอย่างน้อย 1 แปลง โดยจะทำโครงการในลักษณะประชารัฐ คือถ้าเอกชนอยากมีส่วนร่วมก็เข้ามาได้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลเคยมีโครงการบ้านประชารัฐ โดยดึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เข้ามาร่วมแต่ไม่สำเร็จ ในครั้งนี้จึงเชิญสภาอุตสาหกรรมในฐานะผู้ผลิตสินค้าต่างๆ เข้ามาร่วมโครงการ
ตั้งราคาไม่เกินหลังละ4.5แสน
สำหรับราคาบ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อยกำหนดไว้ว่าไม่ควรจะเกิน 4.5 แสนบาทต่อหลัง มีอัตราค่าผ่อนชำระอยู่ที่ 2.5 พันบาทต่อเดือน ส่วนรายละเอียดของโครงการ อยู่ระหว่างการสรุป
ส่วนโครงการบ้านเพื่อผู้สูงอายุหรือซีเนียคอมเพล็กซ์นั้น ได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ก่อนที่กรมธนารักษ์จะดำเนินการก่อสร้างโครงการ ควรทำการสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่ด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพราะถ้าหากไม่เห็นด้วยแล้วไปดำเนินโครงการก็จะไม่เกิดผลสำเร็จจากกระแสคัดค้านของประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ ต้องประสานกับสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลต่างๆด้วยว่า มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมพัฒนาโครงการหรือไม่ เพราะบ้านซีเนียคอมเพล็กซ์ จำเป็นต้องมีสถานพยาบาลเข้าไปดูแลด้วย
ธกส.อัด1.5หมื่นล้านช่วยหนี้คนจน
นายภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียมโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนที่มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยครั้งนี้ โดยมีโครงการ ช่วยเหลือ 3 โครงการ เม็ดเงินสินเชื่อ โครงการละ 5 พันล้านบาท รวมเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท
โครงการแรกคือโครงการเงินกู้ฉุกเฉินรายละไม่เกิน 5 พันบาท อัตราดอกเบี้ย 0.5- 0.85%ต่อเดือน ซึ่งเป็นเงินกู้ที่ใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาการที่ชาวบ้านไปกู้เงินนอกระบบ โครงการที่สองคือโครงการอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย7%เพื่อเป็นสินเชื่อที่เกษตรกรรายย่อย ที่ต้องการลงทุนทำอาชีพเสริม นอกเหนือจากอาชีพดั้งเดิมคือเกษตรกรรม
โครงการที่สาม คือโครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูอาชีพเกษตร ให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 7%เพื่อให้เกษตรกรนำสินเชื่อไปลงทุนปรับปรุงในอาชีพเกษตรเดิมที่อาจมีปัญหา
"หลังจากที่กระทรวงการคลังตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยเรียบร้อยแล้ว เราจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความ เดือดร้อนผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพและรวมถึงการให้สินเชื่อเพื่อไปรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบเดิม"
ทั้งนี้ นับตั้งแต่รัฐบาลทั้งชุดก่อนและปัจจุบันมีนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ทางธ.ก.ส.ได้เข้าไปช่วยปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ลูกหนี้นำไปรีไฟแนนซ์หนี้เดิมแล้วรวม4.2 แสนราย วงเงินหลายหมื่นล้านบาท โดยในปีก่อนสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ 4 หมื่นราย วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท
"ออมสิน"เป้าปล่อยกู้หมดไตรมาส3
นางสาวจิราพร นุกิจรังสรรค์ รอง ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าฐานรากและสนับสนุนนโยบายรัฐ กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมพร้อมสำหรับความ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนคนจน โดยขณะนี้ได้รับมอบนโยบายจากปลัดกระทรวงการคลังว่า ให้ธนาคารเข้าไปช่วยเหลือผู้ลงทะเบียนที่เป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งธนาคารยังมีวงเงินคงเหลือที่จะเข้าไปช่วยเหลือกว่า 3 พันล้านบาท
"ธนาคารมีวงเงินเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาลอยู่จำนวน 5 พันล้านบาท โดยหลังจากรัฐบาลมีนโยบายเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือลูกกนี้นอกระบบแล้วประมาณ 3 หมื่นราย วงเงิน 1.2 พันล้านบาท"
ทั้งนี้ จำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือหนี้นอกระบบกับธนาคารมีจำนวน1.5 แสนราย วงเงินประมาณ 7 พันล้านบาท ในจำนวนนี้มีลูกค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์ช่วยเหลือประมาณ 2 หมื่นราย วงเงินประมาณ 800 ล้านบาท และอยู่ระหว่างติดต่อด้านเอกสารหลักฐานต่างๆ อีก 6.5 หมื่นราย
"ธนาคารมีนโยบายว่าเราจะต้องปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยแก้ไขหนี้นอกระบบให้เต็มวงเงินภายในไตรมาสสามของปีนี้ ส่วนรายใดติดต่อไม่ได้หรือไม่ผ่านเกณฑ์จริงๆ ก็ต้องทำเรื่องเพื่อยุติความช่วยเหลือ เพื่อให้เรามีวงเงินเหลือไปช่วยลูกหนี้กลุ่มที่ลงทะเบียนในรอบนี้ต่อไป"
เร่งสรุปสวัสดิการคนจนส.ค.นี้
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่าสวัสดิการที่จะเข้าไปช่วยเหลือคนจนเพิ่มเติมนั้น ยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม คือช่วยในเรื่องลดค่าครองชีพต่างๆ แต่ขณะนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากจะต้องรอให้มีการตรวจสอบสิทธิ์ของผู้ที่มาลงทะเบียนก่อนว่า ตรงกับเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่
ขณะเดียวกัน ก็ต้องจัดแยกกลุ่มเพื่อดูเรื่องความช่วยเหลือในตรงจุด เช่น กลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งการแยกกลุ่มนี้ จะเป็นตัวกำหนดเรื่องวงเงินงบประมาณที่เราจะใช้ด้วย ทั้งนี้ เบื้องต้นตั้งวงเงินรวมไว้ 8 หมื่นล้านบาท ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเดือนส.ค.นี้