อสังหาฯปรับตัวลงทุนธุรกิจใหม่'กระจายเสี่ยง'
Loading

อสังหาฯปรับตัวลงทุนธุรกิจใหม่'กระจายเสี่ยง'

วันที่ : 19 กรกฎาคม 2560
อสังหาฯปรับตัวลงทุนธุรกิจใหม่'กระจายเสี่ยง'

ธุรกิจอสังหาฯ ชี้เศรษฐกิจ-กำลังซื้อชะลอตัว รุกปรับแผนธุรกิจ "ไรมอน แลนด์" กางแผน 3-5 ปี กระจายความเสี่ยง ขยายธุรกิจ "นอน พร็อพเพอร์ตี้" ลงทุนต่างประเทศ ด้านพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ขายทิ้งโครงการดาราฮาเบอร์ฯ โกยกำไร 130 ล้าน

ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านในธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์ทั้งภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงของตลาด ทำให้ผู้ประกอบการ ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือทุกสถานการณ์และขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายเอเดรียน ลี ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน)   เปิดเผยว่าบริษัทมีแผนที่จะกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีจากนี้ ด้วยการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ  เช่น ธุรกิจ ให้เช่าพื้นที่สำนักงาน  ธุรกิจโรงแรม รวมถึงธุรกิจที่ไม่ใช่อสังหาฯ หรือ "นอน พร็อพเพอร์ตี้" เช่น ธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ เสริมการลงทุนในธุรกิจหลัก หวังเพิ่มการรับรายได้ในระยะยาว และเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนรวม  2  หมื่นล้านบาท

จากการลงทุนตามแผนงานและกระจายลงทุนธุรกิจใหม่  จะส่งผล ให้ไรมอน แลนด์ มีรายได้รวมช่วง 3 ปีข้างหน้า 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น  รายได้จากโครงการคอนโด 40% รายได้ประจำจากการให้เช่าสำนักงานและธุรกิจโรงแรม  20-25 % บ้านเดี่ยว 20% และรายได้ จากต่างประเทศกับรายได้อื่นๆ เช่น นอน-พร็อพเพอร์ตี้  5-10%  "บริษัทยังคงมองหาโอกาสเติบโตจากทุก ๆ ด้าน  เช่น การเปิดโครงการในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะโครงการ ร่วมทุน โดยในช่วงอีก  12-18 เดือนข้างหน้าจะได้เห็นความชัดเจนของการร่วมทุนในต่างประเทศ"

มุ่งอสังหาฯกลุ่มไฮเอนด์

ส่วนแนวทางการพัฒนา โครงการอสังหาฯ จะเน้นเจาะตลาดไฮเอนด์ต่อเนื่อง โดยครึ่งปีหลังเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมแบบ ฟรีโฮลด์ เดอะ ลอฟท์ สีลม มูลค่าโครงการ  3,500  ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่ 3 ในกลุ่มโครงการ  เดอะ ลอฟท์ ซีรีส์  พื้นที่โครงการเดิมเป็นที่ตั้งของวังประมวญ ขนาด 2 ไร่ เป็นอาคาร 37 ชั้น จำนวน 268 ยูนิต ราคาขายเฉลี่ยช่วงพรีเซลอยู่ที่ 2.1 แสนบาทต่อตร.ม.

ในปีนี้ยังมีแผนจะเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยว มูลค่าโครงการ 1,100 ล้านบาท จำนวน 28 ยูนิต บริเวณประสาทสุข-เย็นอากาศ ส่วนโครงการสำนักงานที่เพลินจิต  พื้นที่ 1-1.1 แสน ตร.ม. มีพื้นที่สำนักงานให้เช่า  90%  และที่เหลืออีก 10% จะเป็นพื้นที่ค้าปลีก คาดเริ่มก่อสร้างในปีนี้หรือช่วงต้นปีหน้าและจะเปิดให้บริการในปี 2563  สำหรับเป้าหมายรายได้รวม ปีนี้ตั้งไว้ 3,000-4,000 ล้านบาท ช่วงไตรมาสแรกทำได้แล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีแบ็คล็อกไม่รวมโครงการเดอะ ลอฟท์ สีลม อยู่ที่ 3,300-3,500 ล้านบาท และมียูนิตเหลือขาย 5,200 -5,400 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมแบ็คล็อกและยูนิตเหลือขาย  8,700 ล้านบาท

ภาพรวมครึ่งปีแรก มีคอนโดเปิดใหม่รวมทั้งสิ้น 28,000 ยูนิต โดยมีคอนโดเปิดใหม่ที่เป็นระดับลักชัวรี หรือระดับราคา10  ล้านบาทขึ้นไปต่อยูนิตในตลาด ยังมีจำนวนไม่มากนักหรืออยู่ที่กว่า900 ยูนิต หรือคิดเป็นสัดส่วน 3% ของยูนิตโดยรวมที่เปิดใหม่ ซึ่งมองว่ายังมีดีมานด์ในตลาด

ทั้งนี้  มองว่าประเทศไทยยังมี ทิศทางที่ดี เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ที่ตลาดค่อนข้างชะลอตัว ส่วนจีนยังฟื้นตัวช้าโดยภาพรวม อสังหาฯไทยยังไม่ได้แย่ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่จะเตรียมตัวและปรับแผนงาน แต่ตอนนี้ยังมีข้อกังวลเรื่องการโอนในตลาดอยู่บ้าง โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ

พร็อพเพอร์ตี้ฯเล็งปั้นธุรกิจใหม่

นายวงศกรณ์  ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่ากรณีการขายหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทถืออยู่ในบริษัท ดาราฮาเบอร์ จำกัด  (ดาราฮาเบอร์) ให้แก่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำให้ ดาราฮาเบอร์ สิ้นสภาพของการเป็นบริษัทย่อยของ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค  และ จากการขายหุ้นดังกล่าวทำกำไร 130 ล้านบาท จะนำมาเสริมสภาพคล่องและลงทุนในโครงการอื่นๆ

"สาเหตุที่ขายหุ้นดังกล่าว เพราะโครงการค่อนข้างไกล อยู่ที่ศรีราชา อีกทั้งไม่มีความถนัดและ ไม่เน้นทำธุรกิจรีเทลมากนัก  มองว่าหากจะทำ จะเป็นลักษณะหา พาร์ทเนอร์เป็นหลัก"  ปีนี้จะได้เห็นความชัดเจนของแผนงานที่จะกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ๆ  หรือโปรดักท์ใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย แต่ไม่ใช่การพัฒนาโครงการบ้าน หรือคอนโดมิเนียม แต่เป็นโครงการที่สร้างเสร็จแล้วขาย

ศก.ชะลอปรับลดเป้ายอดขาย

ขณะที่ภาพรวมปีนี้ได้ปรับเป้าหมายยอดขายใหม่อยู่ที่ 1.45 หมื่นล้านบาท ลดลงจากเดิมตั้งไว้ที่ 1.66 หมื่นล้านบาท  เนื่องจากยังมีปัจจัย กดดันทั้งภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว ทำให้ยอดขายครึ่งปีแรก อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็น  แนวราบ 4,000 ล้านบาท และคอนโด 2,000 ล้านบาท  ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ อีกทั้งช่วงครึ่งปีหลังมีช่วงระยะเวลาการขายไม่นานนัก  ปัจจุบันกลุ่มที่อยู่อาศัยตลาดบน ยังไม่น่ากังวลมากนัก  แต่กลุ่มทั่วไปยังมียอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 25% แบ่งเป็น บ้านเดี่ยว ราคาต่ำกว่า 7 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์และบ้านแฝด  ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท และคอนโดต่ำกว่า 2 ล้านบาท  ยังมียอดปฏิเสธค่อนข้างสูงอยู่

ช่วงครึ่งปีหลังยังเหลือเปิดตัวโครงการใหม่ อีก 9 โครงการ มูลค่า 1.4 -1.5 หมื่นล้านบาท

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ