การเคหะผุดศูนย์ศก.ร่มเกล้าเมืองแห่งการเดินอุ้มคนรายได้น้อย
Loading

การเคหะผุดศูนย์ศก.ร่มเกล้าเมืองแห่งการเดินอุ้มคนรายได้น้อย

วันที่ : 29 กันยายน 2560
การเคหะผุดศูนย์ศก.ร่มเกล้าเมืองแห่งการเดินอุ้มคนรายได้น้อย

ดันสร้างศูนย์เศรษฐกิจ เมืองร่มเกล้า บน พื้นที่ 635 ไร่ของการเคหะให้เป็นเมืองสมาร์ทโกรท เมืองแห่งการเดิน ให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่พักอาศัยใกล้สถานีรถไฟฟ้า คาดใช้เวลา 3 ปี ระบุ อีก 5 ปี สุวรรณภูมิมีผู้โดยสาร 90 ล้านคน เจ้าหน้าที่ทำงานสุวรรณภูมิเข้าอยู่

ลดปัญหาการเดินทาง เปลี่ยนรูปแบบก่อสร้างเน้นให้เอกชนลงทุนแทนรัฐ ก่อให้เกิดการจ้างงาน 4 หมื่นตำแหน่ง สร้างรายได้ให้แก่การเคหะ 4 แสนล้านได้ภายใน 30 ปี

ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 28 ก.ย. มีเวทีการประชุมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้ บนพื้นที่มหานครฝั่งตะวันออก รองรับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายใต้โครงการพัฒนาเป็นศูนย์เศรษฐกิจ "เมืองร่มเกล้า" โดยมี นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ดร.เยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว ที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) นายมีศักดิ์ ชุณหรักษ์โชติ ประธานกรรมการบริษัท ชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัด นายแดน เหตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพพัฒนาเมือง จำกัด นายมนต์ทวี หงส์หยก กรรมการบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ร่วมประชุม

นายฐาปนา บุณยประวิตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศ ไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลการศึกษาและวิจัยการใช้พื้นที่ของการเคหะบริเวณร่มเกล้าในขนาดพื้นที่ 635 ไร่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจเมืองร่มเกล้า โดย ใช้หลักเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด หรือ สมาร์ทโกรท (Smart Growth Princples) และ LEED ND หมายถึงเมืองแห่งการเดิน ทุกกิจกรรมการสัญจร พยายามออกแบบให้มีแหล่งงาน ที่อยู่อาศัยและกิจกรรมเศรษฐกิจอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน รวมทั้งกิจกรรมการปั่นจักรยาน ขณะเดียวกันต้องเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งคณะผู้วิจัยเสนอให้ศูนย์เศรษฐกิจเมืองร่มเกล้า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีชมพู ซึ่งสายสีส้มจากมีนบุรีมาเชื่อมศูนย์เศรษฐกิจฯ ต่อเนื่องไปยังท่าอากาศ ยานสุวรรณภูมิ

"อีก 5 ปีข้างหน้าท่าอากาศยานสุวรรณ ภูมิต้องรองรับผู้โดยสาร ประมาณ 90 ล้านคน ตามประมาณของการท่าอากาศยานแห่งประเทศ ไทย (ทอท.) ซึ่งแอร์พอร์ตลิงก์ไม่สามารถรอง รับได้ จึงต้องมีระบบฟีดเดอร์ไลน์ หรือระบบขนส่งคนอีกเส้นแล้วผ่านทางศูนย์เศรษฐกิจฯ วิ่งไปยังมีนบุรีเพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสีส้มเพื่อขนส่งคนเข้าสู่กรุงเทพฯ ตอนเหนือใต้ และกรุงเทพฯ ตอนกลางได้ จะเป็นแนวทางการสัญจรเป็นทางเลือกของคนในสุวรรณภูมิเอง และศูนย์เศรษฐกิจฯ ทั้งนี้หลังจากเสนอไปที่การเคเหะแห่งชาติ อยู่ที่การเคหะแห่งชาติจะพิจารณาเงื่อนไขการลงทุน อาจจะเป็นลักษณะร่วมทุนกับเอกชน หรือรัฐลงทุนเอง ซึ่งทีมที่ปรึกษาได้เสนอแนวทางไว้ดังนี้ โครงการนี้การเคหะแห่งชาติควรเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเป็นนโยบายขึ้นมาให้สร้างศูนย์เศรษฐกิจเพื่อรองรับสนามบินสุวรรณภูมิ รัฐบาลสามารถประกาศให้เอกชนร่วมทุนในลักษณะพีพีพีหรือกระบวน การร่วมมือภาครัฐและเอกชน ได้ตามกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกิดศูนย์เศรษฐกิจฯ ได้เร็วคาดว่าไม่เกิน 3 ปีโครงการนี้น่าจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเคหะแห่งชาติจะนำข้อมูลการศึกษาไปใช้ ขณะที่เอกชนบอกว่าสร้างที่อยู่อาศัยรายได้ต่ำกำไรน้อยแต่วิธีแบบใหม่เอกชนมีรายได้ด้วย รัฐได้กำไร และที่ดินไม่หายไป ใช้ปะโยชน์ได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทีมที่ปรึกษาคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในการก่อสร้าง สามารถสร้างงานในพื้นที่ได้ประมาณ 4 หมื่นตำแหน่ง สามารถมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ภายใน 30 ปีไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท

ด้านนายดิเรก แสงใสแก้ว กรรมการบริหารสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการการศึกษาแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูง กล่าวว่า แนวทางการศึกษาการสร้างที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยถึงกลางจะเป็นลักษณะมิกซ์ยูสทั้ง รร. ห้างสรรพสินค้า อาคารที่อยู่อาศัย และพัฒนาพื้นที่ ตามแนวรถไฟฟ้า หรือทีโอดี ซึ่งเป็นพื้นที่มูลค่าสูง โดยรัฐสามารถกำหนดเงื่อนไขการลงทุน ทั้งการเงิน การตลาด กายภาพ และข้อกฎหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาลงทุน ในพื้นที่ทีโอดี ยกตัวอย่างเช่นการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยร่วมกับห้างสรรพสินค้ามูลค่า 500 ล้านบาท โดยที่รัฐหาแหล่งเงินกู้จากธนาคารของรัฐเพื่อเป็น ค่าก่อสร้างได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำประมาณ 2% พร้อมมีแบบที่ดีมีดีไซน์สวย กำหนดสเปกก่อสร้าง

จากนั้นการเคหะฯ เข้าไปซื้อคืนในมูลค่าก่อสร้างซึ่งเอกชนจะมีกำไรจากการก่อ สร้างอาคาร 5-10% ซึ่งน้อยมากถ้าเทียบมูลค่าการก่อสร้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน แต่ได้เงื่อนไขเรื่องดอกเบี้ยที่ถูกลง และได้ประสบการณ์การทำงาน เพื่อจะไปทำที่พักอาศัย ในพื้นที่แนวรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกกว่า 200 สถานี ขณะเดียวกันการเคหะนำพื้นที่ก่อสร้างนั้นไปเข้ากองทุนทรัสต์ ในตลาดหุ้นเพื่อเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทุนในอสังหาริมแนวรถไฟฟ้ามาร่วมลงทุนมีระยะเวลา 30 ปี ขณะที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเช่ากับการเคหะฯ ในราคาประมาณ 3,500 บาท ต่อเดือน ขนาดพื้นที่ 24 ตร.ม. ซึ่งข้อเสนอที่ยื่นไปกับการเคหะฯ มีเงื่อนไขว่าเมี่อครบ 5 ปี เปลี่ยนผู้เช่าขณะที่ผู้เช่าจะมีเงินคืนประมาณ 200,000 บาท จากการจ่ายค่าเช่าทุกเดือน เดือนละ 3,500 บาท จากนั้นจะมีผู้เช่ารายได้น้อยหมุนเวียนเข้ามาลักษณะนี้

นายแดน เหตระกูล กล่าวว่า บทบาทของบริษัท กรุงเทพพัฒนาเมืองฯ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐเชื่อมต่อกับการลงทุน รวมโหมดการพัฒนาเมืองในทุกจังหวัดกระจายอำนาจการลงทุน ผลักดันให้กองทุนมีความน่าสนใจในการลงทุน ซึ่งประเทศ ไทยกำลังมีรูปแบบการลงทุน การนำสินทรัพย์ที่เป็นที่ดินเข้าสู่กองทุนทรัสต์

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาครัฐ อื่นๆ