ธนารักษ์ลุยประเมินราคาที่ดินรองรับฐานการคำนวณภาษีปี'62
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่าในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ทางกรมธนารักษ์ คาดว่า การประเมินราคาที่ดินที่จะนำมาใช้เป็นฐานคิดคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (มีผลบังคับใช้ในปี 2562) จะเสร็จสิ้นทั้งหมด 32 ล้านแปลง โดยจะให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศจำนวน 3,853 แห่ง นำมาใช้เป็นฐานคำนวณเพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับ ผู้ที่เข้าเกณฑ์เสียภาษี
ทั้งนี้ การประเมินราคาที่ดินเมื่อสิ้นเดือน กันยายน 2560 ที่ผ่านมา สามารถประเมินราคาที่ดินไปแล้ว 24.1 ล้านแปลง จากก่อนหน้านี้เมื่อสิ้นปี 2559 ประเมินไปแล้ว 18 ล้านแปลง ซึ่งเหลือจำนวนที่จะต้องประเมินในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 6.9 ล้านแปลงเท่านั้น โดยการดำเนินการถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายและตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
สำหรับรูปแบบการประเมินราคาที่ดินทั้งประเทศ กรมธนารักษ์ได้อาศัยความร่วมมือจากเจ้าหน้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีจำนวนกว่า 1.3 หมื่นราย ให้เข้ามาอบรม และลงพื้นที่ รวมถึง การนำข้อมูลราคาประเมินที่ได้ใส่เข้าสู่โปรแกรมระบบคอมพิวเตอร์กลาง และได้ว่าจ้างเอกชน 2-3 รายเข้ามาวางระบบคอมพิวเตอร์ เช่น บริษัท สามารถเทลคอม เพื่อมาทำฐานข้อมูลแผนที่ และการคำนวณราคาประเมินที่ดินรายแปลง
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า สำหรับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ได้กำหนดหน้าที่ของกรมธนารักษ์ที่สำคัญไว้ 3 เรื่อง ประกอบด้วย การทำบัญชีราคาประเมินที่ดิน การทำบัญชีราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง และทำบัญชีราคาประเมินห้องชุด หรือ คอนโดมิเนียม
ขณะที่แนวทางการทำบัญชีราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง ทางกรมธนารักษ์ได้กำหนดแบบมาตรฐานไว้ 31 แบบ โดยมีการกำหนดราคาประเมินต่อตารางเมตรไว้ชัดเจน เฉลี่ยที่ 7,000-8,000 ต่อตารางเมตร สำหรับบัญชีราคาประเมินห้องชุดหรือคอนโด ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้ทำการประเมินไว้ต่อเนื่องถึง 1 ล้านห้อง เนื่องจากมีการก่อสร้างใหม่ขึ้นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดำเนินการได้ทันเวลา
ส่วนความคืบหน้าการพิจารณา พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระสอง โดยได้มีความเห็นให้ขยายเวลาพิจารณากฎหมายภาษีที่ดินออกไปอีก 60 วัน จากที่สิ้นสุดในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ไปเป็นสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 เนื่องจากยังมีรายละเอียดของกฎหมายต้องพิจารณาอีกมาก โดยสาระสำคัญจะต้องพิจารณาการเสียภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์ให้รอบคอบ เนื่องจากเป็นฐานภาษีใหญ่ที่ผู้เสียภาษีต้องเสีย ดังนั้นต้องมีการเทียบการเสียภาษีแบบเดิมและแบบใหม่ให้ผู้เสียภาษีไม่มีภาระเพิ่มขึ้นจนมีปัญหาภายหลัง รวมถึงจะพิจารณาประเภทที่ดินเพื่อการพาณิชย์ที่ได้รับการยกเว้นภาษี เช่น นิคมอุตสาหกรรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สนามกีฬา และที่ดินเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องมีการออกกฎหมายลูกมารองรับ ทำให้การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ หรือ สนช.วาระสอง ต้องใช้เวลาการพิจารณาการเก็บภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์เป็นเวลานานกว่าที่ดินประเภทอื่นๆ