การเคหะฯลุยแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี พัฒนา'ร่มเกล้า'เป็นเมืองศูนย์เศรษฐกิจ
Loading

การเคหะฯลุยแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี พัฒนา'ร่มเกล้า'เป็นเมืองศูนย์เศรษฐกิจ

วันที่ : 16 ธันวาคม 2560
การเคหะฯลุยแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี พัฒนา'ร่มเกล้า'เป็นเมืองศูนย์เศรษฐกิจ

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) ระยะ 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) และแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของการเคหะแห่งชาติในการเดินหน้าสร้างโครงการเช่า, เช่าซื้อ บ้านข้าราชการและคอนโดฯ แนวรถไฟฟ้า นำร่องปักเสาชุมชนร่มเกล้าให้เป็น "ศูนย์เศรษฐกิจเมืองร่มเกล้า" เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจนวัตกรรมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ผุดที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึง การมอบนโยบายการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ถึงปานกลางได้มีที่อยู่อาศัย พร้อมระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกครบในการตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ กคช. ซึ่งปัจจุบันการเคหะแห่งชาติขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) และแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)

โดยแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) ของการเคหะแห่งชาติ ประกอบด้วย 1) แผนยกระดับคุณภาพชีวิต (เช่า) ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่สามารถรับภาระที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ โดยจัดสร้างโครงการอาคารเช่ารองรับ จำนวน 77,958 หน่วย 2) แผนเสริมสร้างความมั่นคงด้านการอยู่อาศัย (เช่าซื้อ) ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง นักศึกษาจบใหม่ และครอบครัวขยาย ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยจัดทำโครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 94,000 หน่วย 3) แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการ สร้างความมั่นคงด้านการอยู่อาศัยให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยในสังกัดหน่วยงานของรัฐ จำนวน 37,500 หน่วย 4) แผนความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย (บ้านประชารัฐ) เป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน 150,000 หน่วย ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงการคลังผ่านมาตรการสนับสนุนด้านต่างๆ และการเคหะแห่งชาติเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติ ได้เดินหน้าศึกษาแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงเพื่อวางผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่นำร่องบริเวณชุมชนร่มเกล้าให้เป็น "ศูนย์เศรษฐกิจเมืองร่มเกล้า" เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจนวัตกรรมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติมอบหมายให้ บริษัท พิพิธภัณฑ์เอเชีย จำกัด ดำเนินงานวิจัย "โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง" ซึ่งได้คัดเลือกพื้นที่ของการเคหะแห่งชาติบริเวณรอบสถานีรถไฟลาดกระบังบริเวณถนนกรุงเทพกรีฑา-ร่มเกล้าเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อจัดทำผังแม่บทภายใต้ชื่อ "ศูนย์เศรษฐกิจเมืองร่มเกล้า" โดยพัฒนาให้เป็นเมืองของคนรุ่นใหม่ เมืองธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเมืองที่อยู่อาศัยที่มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานการค้าระหว่างประเทศ การค้าปลีก การประชุม การมีพื้นที่ Working Space การจัดแสดงสินค้า และการบริการ รวมถึงมีระบบ ขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อกับโครงข่าย รถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ศูนย์เศรษฐกิจกรุงเทพมหานคร และศูนย์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ทั้งนี้ ได้นำเกณฑ์การเติบโต (Smart Growth Principles) มาใช้ในการออกแบบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ บทบาทของพื้นที่ รวมถึงระบบการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และระบบการเชื่อมโยงทางกายภาพสำหรับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โดยใช้เกณฑ์ย่อยในการออก แบบโครงการซึ่งได้แก่ เกณฑ์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development Principles) แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบท่าอากาศยาน (Airport-Oriented Development Concept) เกณฑ์ความเป็นผู้นำการออกแบบพลังงานและสภาพแวดล้อมระดับย่าน (LEED-ND) และกฎหมายผังเมือง (Form-Based Codes) รวมทั้งการใช้แนวคิดในการออก แบบการบริหารจัดการทางการเงินที่ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนกิจการ ของภาครัฐ (PPP) พ.ศ.2556 ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการลงทุนโครงการศูนย์เศรษฐกิจ โดยจะใช้กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ประเภทกองทรัพย์สินที่เรียก REITS หรือ Real Estate Investment Trust เป็นเครื่องมือ ระดมทุนเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดร.ธัชพล กล่าว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาครัฐ อื่นๆ