ดึงที่ราชพัสดุ317ไร่ผุด บ้านคนไทยฯ
Loading

ดึงที่ราชพัสดุ317ไร่ผุด บ้านคนไทยฯ

วันที่ : 4 มกราคม 2561
ดึงที่ราชพัสดุ317ไร่ผุด บ้านคนไทยฯ

นายกฯสั่งครม.เดินหน้า ช่วย"คนตัวเล็ก"รายได้น้อย ครม.ไฟเขียว โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ  ดึงที่ดินราชพัสดุ 8 แปลง พัฒนาที่อยู่อาศัยกว่า 2 พันยูนิต กำหนดราคาไม่เกิน 7 แสนสัญญาเช่า 30 ปี พร้อมจัด วงเงินสินเชื่อกว่า 4 พันล้านปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่านออมสิน-ธอส.โดยแยกบัญชีธุรกรรม นโยบายรัฐ ไม่นับเป็นเอ็นพีแอลจากการดำเนินงาน พร้อมดึงประกันสังคมลงขัน 5 พันล้าน

นับเป็นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองผ่านหลายโครงการเพื่อผลักดันเรื่องดังกล่าว แต่ยังประสบปัญหาในการดำเนินการ ยอดอนุมัติ สินเชื่อต่ำ เนื่องจากสถาบันการเงินกังวลเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีเอล) ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ พร้อมหนุนสินเชื่อผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยหนี้ที่เกิดขึ้นจะไม่นำมานับรวมเป็นเอ็นพีแอลจากการดำเนินงานเป็น ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคารของสถาบันการเงินดังกล่าว

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้(3 ม.ค.) ว่า ขณะนี้ สัญญาณทางเศรษฐกิจดีขึ้นใน ทุกด้าน ซึ่งในระดับกลางและขนาดใหญ่วันนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแต่ คนตัวเล็ก ตัวน้อย ระดับล่างยังต้อง ดูแล ซึ่งอยากให้ครม.ช่วยกันดูแล

ขณะที่การประชุมครม. มีมติ เห็นชอบโครงการบ้านคนไทย ประชารัฐ ซึ่งเป็นโครงการบ้าน ประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุระยะที่ 2 โดยจะดำเนินการในที่ดินราชพัสดุ 8 แปลง เนื้อที่รวมจำนวน 317 ไร่ 2 งาน 49.9 ตารางวา มีทั้งหมด 2,757 ยูนิต โดยพื้นที่ดำเนินการ 8 แปลง ประกอบด้วย อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จำนวน186ยูนิต ,อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 139 ยูนิต, อ.เมือง จ.อุดรธานี 264 ยูนิต, อ.เมืองจ.นครพนม 322 ยูนิต, อ.แม่ทะ จ.ลำปาง 618 ยูนิต, อ.เมือง จ.เชียงราย 352 ยูนิต, อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 584 ยูนิต และ อ.เมือง จ.ขอนแก่น 292 ยูนิต

โดยถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินราชพัสดุ และโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยคาดว่า จะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ 2,757 ครัวเรือน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้รับงานเพิ่มเติมซึ่งธุรกิจอสังหาฯ เชื่อมโยงไปยังซัพพลายเชนธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกหลายธุรกิจ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็น

3 กลุ่มโดยให้สิทธิ์การจองโครงการแก่กลุ่มแรกก่อน คือประชาชนที่อยู่ในทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลัง หากโครงการยังเหลืออยู่ให้พิจารณากลุ่มที่ 2 คือประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคนต่อเดือน และกลุ่มสุดท้ายคือ ประชาชนทั่วไป ซึ่งกลุ่มประชาชนทั่วไปทางธนาคารจะไม่ให้การสนับสนุนดอกเบี้ย

หนุนสินเชื่อ 4 พันล้านบาท

ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบกรอบสินเชื่อ 4,000 ล้านบาทจากธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และทางสำนักงานประกันสังคมจะร่วมลงทุนกับกระทรวงการคลังดำเนินโครงการนี้ด้วยในวงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะหารือทำความตกลงกับกระทรวงการคลังต่อไปว่าจะร่วมลงทุนในลักษณะใดสำหรับประเภทที่อยู่อาศัยมี3แบบคือบ้านแฝด ห้องแถว และอาคารที่พักอาศัย มีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร โดยราคาจะอยู่ที่ 350,000 -700,000บาทต่อยูนิต

เคาะปล่อยกู้ 2 รูปแบบ

สำหรับสินเชื่อจะมี 2 รูปแบบ คือ สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ที่ทางธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)จะสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วม พัฒนาโครงการหรือเอกชนที่ รับสร้างบ้านเข้ามาร่วมโครงการในรูปแบบให้เอกชนลงทุนในโครงการของรัฐ กำหนดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 คิดอัตรา 3% ต่อปี ปีที่ 4-5 คิดในอัตราดอกเบี้ย MLR-1 และ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(Post Finance) เป็นสินเชื่อที่ปล่อยให้ประชาชน ปีที่ 1-4 คิดอัตราดอกเบี้ย 2.75 ต่อปี ปีที่ 5-30 สำหรับรายย่อยคิดใน อัตรา MRR-0.75 ส่วนกรณีหักจากเงินเดือนคิดในอัตรา MRR-1

กำหนดผ่อนชำระยาว 30 ปี

โดยรูปแบบจะเป็นโครงการผ่อนชำระสู่การเช่าระยะยาว (Rent to Lease) กรรมสิทธิ์จะเป็นของ ผู้ได้รับสิทธิ์ที่อยู่อาศัยระยะเวลา 30ปี และผู้ได้รับสิทธิ์พัฒนาโครงการ หลังจากหมดสัญญาเช่าแล้วขึ้นอยู่กับว่าผู้เช่าจะได้รับการต่อสัญญาหรือไม่ ไม่สามารถขายขาดได้เนื่องจากเป็น ที่ราชพัสดุ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางไม่เกิน 30% เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสม กับสภาวะแวดล้อมของท้องถิ่น เช่น การให้ผู้อยู่อาศัยประกอบการเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ส่วนกลางได้ และให้นำรายได้จากส่วนดังกล่าว มาซ่อมบำรุงพื้นที่ของโครงการ

อย่างไรก็ตามธนาคารออมสินและธอส.แยกบัญชีโครงการบ้าน คนไทยประชารัฐ เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ(พีเอสเอ) โดยไม่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาลและขอนำ ผลกระทบรายได้และค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการบ้านคนไทยประชารัฐมาปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ตามบันทึกข้อตกลง การประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ และขอไม่นับรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ที่เกิดจากการดำเนินโครงการเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคาร

นายกฯสั่งเข้มรับเหมาไม่ทิ้งงาน

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินโครงการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยโดยพัฒนาที่ราชพัสดุในระยะที่ 1 บนที่ดิน 6 แปลงและ ได้มีการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ Pre Finance ให้กับผู้ประกอบการ เอกชนแล้วในวงเงิน 258 ล้านบาท และสินเชื่อที่อยู่อาศัย Post Finance รวม 19,875 ราย วงเงิน 15,965 ล้านบาท

นายณัฐพร กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องว่าในการดำเดินการโครงการบ้านคนไทยประชารัฐให้ เข้มงวดเรื่องการคัดเลือกผู้รับเหมา ที่มีความรับผิดชอบไม่ใช่คัดเลือก เฉพาะผู้รับเหมาหรือผู้พัฒนาโครงการ ที่มีการเสนอราคาต่ำที่สุดแต่ต้อง เปรียบเทียบประโยชน์ที่ประชาชน จะได้รับและคุณภาของวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งต้องเข้มงวดไม่ให้มีการ ทิ้งงานของผู้รับเหมา

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาครัฐ อื่นๆ