EECเดือดแห่ผุดโรงแรมพรึ่บทุนท้องถิ่นดึงเชนดังสู้ขาใหญ่
โรงแรมแข่งเดือด อินเตอร์เชนเบียดธุรกิจภูธร 3 จังหวัด EEC สะพัดหลายพันล้าน ทำเลทองเชื่อม 3 สนามบินสุดฮิต แห่ผุดโรงแรมราวดอกเห็ด ทะลุ 2 แสนห้อง รับนักท่องเที่ยว-พนักงานบริษัท ซุ่มซื้อ ที่ดินแหลมแม่พิมพ์รับฮิลตันปักหมุด ทุนท้องถิ่น ไม่ถอย ดึง "แอคคอร์-อินเตอร์คอนฯ-ฮอลิเดย์ อินน์" บริหาร
หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ปลดล็อกให้ต่างชาติสามารถถือครองโฉนดที่ดิน ถือกรรมสิทธิ์คอนโดฯได้เต็ม 100% ส่งผลให้ทุนท้องถิ่น ส่วนกลาง และต่างประเทศสนใจลงทุนธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
3 จังหวัดห้องพักทะลุ 2 แสนห้อง
นายสรรเพ็ชร ศุภบวรเสถียร อุปนายก สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันภาคตะวันออก มีห้องพักทั้งหมดกว่า 200,000 ห้อง มีทั้ง จดทะเบียนถูกต้องและดำเนินการไม่ถูกต้อง แบ่งเป็นอินเตอร์เชน 10% และทุนท้องถิ่น อีก 90% ค่อนข้างโอเวอร์ซัพพลาย คาดว่าย่านพัทยาจะมีห้องพักเพิ่มขึ้น 1,000 ห้อง ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว มีทั้งการลงทุนจากส่วนกลางที่ดึงอินเตอร์เชนเข้าไปบริหาร และทุนท้องถิ่น
สำหรับโรงแรมอินเตอร์เชนที่เข้ามานานแล้ว เช่น โรงแรมฮิลตัน พัทยา, โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล พัทยา รีสอร์ท ขณะเดียวกันมีโรงแรมเกิดใหม่ 1-2 ปีนี้ เช่น โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา และโรงแรม เมอเวนพิค สยาม โฮเทล นาจอมเทียน พัทยา ด้านโรงแรมอมารี โอเชียน พัทยา มีการปรับปรุงทุบและสร้างตึกใหม่ ส่วนโรงแรมของนักลงทุนท้องถิ่น ได้แก่ โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา, โรงแรมวีรันดา รีสอร์ท พัทยา เป็นต้น ขณะเดียวกันพบว่า โรงแรมลักเซอรี่อินเตอร์เชนได้ขยายการลงทุนไปบริเวณบางเสร่และสัตหีบใกล้สนามบินอู่ตะเภา เช่นเดียวกับบริเวณศรีราชามีการลงทุน เนื่องจากใกล้ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3
นักลงทุนจ้องเข้าพื้นที่ระยอง
นายปริย ตัณฑเกษม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตอนนี้โรงแรมหลายแห่งใน จ.ระยองเริ่มปรับธุรกิจ และขยายตัวมากขึ้น เพราะมองเห็นโอกาสของ EEC ทั้งคนที่เข้ามาทำงาน กลุ่มเดินทางศึกษาดูงานและประชุม รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว เช่น โรงแรมระยอง แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา คาดว่าธุรกิจโรงแรมจะเติบโตปีละ 5-6% จากการสำรวจปี 2559 ที่ 14,318 ห้อง หรือคิดเป็น 700 ห้องต่อปี
ทั้งนี้ การเข้ามาของโรงแรมอินเตอร์ เชนในพื้นที่จังหวัดระยอง มีทั้งเข้ามา ลงทุนเอง รวมทั้งร่วมทุนกับทุนท้องถิ่น เช่น โรงแรมสตาร์ คอนเวนชั่น ระยอง ได้มีการลงทุนรีโนเวตห้องพักกว่า 200 ห้อง และดึงเครือแอคคอร์เข้ามา บริหาร ในขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรม ย่านหาดแหลมแม่พิมพ์ก็ติดต่อเครือ แอคคอร์เข้ามาบริหาร ภายใต้แบรนด์เมอร์เคียว รวมถึงโรงแรมอักษรระยอง เดอะ เวลลิตี้ คอลเลคชั่นในเครือไมด้า แอสเซ็ท กำลังจะเปิดให้บริการประมาณเดือนสิงหาคม 2561 จำนวน 110 ห้อง
แหล่งข่าววงการอสังหาริมทรัพย์ จ.ระยอง เปิดเผยว่า ในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.ระยองมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติหลายกลุ่มสนใจเข้ามาลงทุนซื้อที่ดินสร้างโรงแรมเพิ่ม คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท เช่น มีกลุ่มทุนที่เข้ามาซื้อ ที่ดินติดทะเลแหลมแม่พิมพ์ ที่มีแผน ดึงอินเตอร์เชน 5 ดาว กลุ่มฮิลตันมา บริหาร และกลุ่มบริษัทเกษมกิจ จำกัด เชนโรงแรมจากส่วนกลางเจ้าของโรงแรม คามิโอคลาสสิค และคามิโอแกรนด์ รวมถึงทุนท้องถิ่นอสังหาริมทรัพย์จาก ชลบุรีได้เข้ามาซื้อที่ดินบนถนนสายรอง ขนานกับเส้นสุขุมวิท แปลงละ 50-100 ไร่ เพื่อเตรียมทำโครงการ
ทุนภูธรลุย รร.รอรับ EEC
นายภูษิต ไชยฉ่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กุญชร โมเดิร์น ลิฟวิ่ง จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เตรียมลงทุนโรงแรมแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากถนนสุขุมวิทมากนัก ขนาด 140 ยูนิตขึ้นไป รองรับผู้มาใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา และยังมีแนวทางลงทุนในเซกเมนต์ดิวารี เอกซ์เพรส ซึ่งเป็นโครงการโรงแรมระดับ 3 ดาว ราคาไม่เกิน 1,000 บาท/คืน ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจสำรวจพบว่า มีกลุ่มทุนท้องถิ่นในระยองหลายรายมีการลงทุนปรับตัวและรีโนเวตอาคาร เพื่อรองรับ EEC เช่น โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ระยอง เตรียมขยายการลงทุนเพิ่มประมาณ 80 ห้อง, บริษัท เพลินใจกรุ๊ป จำกัด สร้างโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ขนาด 70 ห้อง
ด้าน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่อยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภา พบว่ามีทุนอสังหาฯในท้องถิ่น เช่น บริษัท นาวีเฮ้าส์ กรุ๊ป จำกัด ได้เปลี่ยนแนวทางจากการทำบ้าน จัดสรรและอาคารพาณิชย์สู่การลงทุนสร้างโรงแรม ขนาด 4 ชั้น 50 ห้องอีก 2 โครงการ มูลค่า 70 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จในเดือนเมษายนปี 2562 และโรงแรมขนาดเล็กบริเวณหนองตะเคียน งบประมาณลงทุน 70 ล้านบาท ขนาด 50 ห้อง
ทุนใหญ่-ต่างชาติแห่ลงทุน
แหล่งข่าวในธุรกิจโรงแรมรายหนึ่ง กล่าวว่า กลุ่มทุนพัฒนาที่ดินจากส่วนกลางหันมาลงทุนในธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่หลัก ระยอง, พัทยา, สัตหีบ, บางเสร่ และศรีราชา เพราะเป็นทำเลเศรษฐกิจใหม่เชื่อมการ เดินทาง 3 สนามบินคือ อู่ ตะเภา-สุวรรณภูมิ- ดอนเมือง คาดว่าจะมีทั้งนักลงทุน นักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาทำงาน รวมถึง นักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยทุนใหญ่ ที่เข้ามาลงทุนแล้ว อาทิ กลุ่มทีซีซี ลงทุนโรงแรมแมริออท พัทยา, กลุ่มดิเอราวัณ กรุ๊ป จากเดิมที่มีโรงแรมอยู่แล้วภายใต้แบรนด์ไอบีส เมอร์เคียว และฮอลิเดย์ อินน์ (พัทยา) ยังมีแผนลงทุนโรงแรมในเมืองพัทยา และสร้างโรงแรมฮอป อินน์ (ชลบุรี), กลุ่มฮาบิแทท กรุ๊ป ลงทุนโรงแรมในโซนพัทยาถึง 4 แห่งคือ ครอสทูไวบ์ พัทยา ซีเฟียร์, ครอสทู พัทยา โอเชี่ยน เฟียร์, เบสท์ เวเทิร์น พรีเมียร์ เบย์เฟียร์ พัทยา และบลูเฟียร์ พัทยา
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม วี.เอ็ม.ซี.พี. ผู้บริหาร โครงการอาทาระ มอลล์ ที่ร่วมกับเครือโรงแรมโอ๊ควูด เวิลด์ไวด์ ให้บริหารโครงการโรงแรมโอ๊ควูด โฮเทล แอนด์เรสซิเดนซ์ ศรีราชา (ชลบุรี)
โครงการโรงแรมฟอร์จูน จ.ระยอง ของ บมจ.ซีพีแลนด์, โรงแรม Centre Point Express Pattaya บริษัทในเครือ บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์, โครงการพัทยาเบย์ โอเทล เรโนวาชั่น ของ บจ.บูทิค มิดเทียร์ 2 โรงแรมเดอะ พี-มัตช์ โฮเทล จ.ชลบุรี ของ บจ.เดอะ พี-มัตช์, โรงแรม Kuretake Inn อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ของ บจ.คุเรทาเคะโช่, โรงแรมอมารี โนวา สูท พัทยา ของ บจ.โนวา สูท, โรงแรมโนวา ปาร์ค พัทยา ของ บจ.โนวา ปาร์ค, โรงแรมอู่ทอง อ.บางละมุง ของ บจ.อุดมสุวรรณ และโรงแรม พรีมา 11 อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ