กู้ร่วมซื้อบ้าน ผ่านง่ายจริง แต่ก็มีสิ่งที่ต้องระวังก่อนตัดสินใจ
Loading

กู้ร่วมซื้อบ้าน ผ่านง่ายจริง แต่ก็มีสิ่งที่ต้องระวังก่อนตัดสินใจ

วันที่ : 2 มิถุนายน 2564
กู้ร่วมซื้อบ้าน ผ่านง่ายจริง แต่ก็มีสิ่งที่ต้องระวังก่อนตัดสินใจ

การกู้ร่วมซื้อบ้าน ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้ความฝันในการอยากมีบ้านเป็นจริงได้ง่ายมากขึ้น เพราะจะช่วยให้ธนาคารมั่นใจได้ว่าผู้กู้ร่วมมีความสามารถในการผ่อนชำระได้เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตาม แม้วิธีการนี้จะมีข้อดี แต่ก็มีสิ่งที่ควรต้องทำความเข้าใจก่อนด้วยเช่นกัน เพราะมีโอกาสเกิดผลเสียตามมาภายหลังได้ โดยสิ่งที่ต้องระวัง และพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจกู้ร่วมซื้อบ้านนั้น มีดังต่อไปนี้

  1. เมื่อกู้ร่วมแล้วต้องรับผิดชอบหนี้ร่วมกัน

    หลักการของการกู้ร่วมคือนำสถานะทางการเงินของ 2 คน มารวมกันเพื่อให้มีความสามารถในการผ่อนชำระได้มากเพียงพอ ดังนั้น ธนาคารจะถือว่าผู้กู้ร่วมจะต้องร่วมกันผ่อนชำระค่าใช้จ่าย แต่ในความเป็นจริงนั้น ผู้กู้ร่วมอาจผิดใจกันระหว่างสัญญา จนทำให้ไม่อยากรับผิดชอบร่วมกันต่อ หรือ อาจมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดมีปัญหาทางการเงิน ทำให้ภาระทั้งหมดตกเป็นของอีกฝ่ายได้ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น ก็อาจทำให้แบกภาระชำระหนี้ต่อไม่ไหว จนจำเป็นต้องถอนการกู้ร่วม ซึ่งก็ใช่ว่าจะทำได้เสมอไป เพราะหากธนาคารเห็นว่าถ้าถอนชื่อออกแล้วเหลือผู้กู้คนเดียว แต่สถานะการเงินไม่สามารถผ่อนชำระไหว ก็จะไม่อนุมัติให้ถอนการกู้ร่วมได้ จนสุดท้ายหากไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ต้องนำไปสู่การขายบ้านทิ้ง สูญเสียบ้านไปในที่สุด

  2. เมื่อกู้ร่วมแล้วอาจทำให้การกู้ครั้งต่อไปยากขึ้น

    ในกรณีการกู้ร่วมแบบคนในครอบครัวเช่น พี่น้อง เมื่อกู้ร่วมผ่าน ทั้ง 2 คนจะถือว่าเป็นหนี้ร่วมกัน ได้ใช้สถานะการเงินของตนเองเพื่อบ้านหลังที่กู้ร่วมกันไปแล้ว ซึ่งหากในเวลาต่อมา เมื่อต้องแต่งงานและมีความต้องการกู้ซื้อบ้านของตัวเองแยกออกไป สถานะทางการเงินในการกู้บ้านหลังใหม่นั้น ก็จะลดต่ำลง เพราะยังมีหนี้ติดค้างอยู่ที่บ้านหลังแรกที่ทำการกู้ร่วมกัน ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจกู้ร่วม จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ต้องมั่นใจว่าไม่มีแผนการกู้ซื้อทรัพย์อื่นๆ หรือบ้านหลังอื่นๆ อีก

  3. บ้านจากการกู้ร่วมเป็นกรรมสิทธิ์ของทั้งคู่

    เพราะตื่นยื่นขออนุมัติวงเงินกู้บ้านกับทางธนาคาร ได้รับการอนุมัติสำเร็จเพราะใช้สถานะทางการเงินของทั้ง 2 คน ดังนั้น กรรมสิทธิ์ของบ้านจึงเป็นของผู้กู้ร่วมทั้งคู่ ส่งผลให้หากต้องการขาย หรือโอนให้กับใครก็แล้วแต่ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ร่วมกู้ด้วย ซึ่งด้วยเงื่อนไขนี้ จึงทำให้หากผู้กู้ร่วมเกิดผิดใจกัน หรือผู้กู้คนใดคนหนึ่งต้องการขายบ้าน เพราะรู้สึกว่าผ่อนเองอยู่ฝ่ายเดียว ผ่อนต่อไม่ไหวแล้ว ก็จะไม่สามารถทำได้ หากผู้ร่วมกู้อีกฝ่ายไม่ให้ความยินยอม

  4. สิทธิ์การลดหย่อนภาษีจะถูกหารเฉลี่ย

    ประโยชน์ข้อหนึ่งจากการซื้อบ้านที่เราทุกคนทราบกันดีก็คือ ดอกเบี้ยจากการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยนั้นสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งหากเป็นการกู้ซื้อบ้านคนเดียวก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเป็นกรณีการกู้ร่วมซื้อบ้านนั้น ดอกเบี้ยที่จะนำไปหักลดหย่อนภาษีจะต้องถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วม เช่น หากดอกเบี้ยจากการกู้ซื้อบ้านสามารถลดหย่อนภาษีได้ 50,000 บาท ผู้กู้ร่วม 2 คนก็จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้เพียงแค่คนละ 25,000 บาทเท่านั้น แม้ว่าจะมีเพียงแค่คนเดียวที่ผ่อนชำระก็ตาม

แม้การกู้ร่วมซื้อบ้านจะมีข้อดีที่ทำให้อนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังอาจได้วงเงินอนุมัติเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมได้ด้วยหากสถานะการเงินและเครดิตของผู้กู้ร่วมทุกฝ่ายอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีข้อจำกัดที่อาจเป็นปัญหาภายหลังให้ต้องพิจารณาอยู่หลายประการ ทั้งกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ต้องเป็นเจ้าของร่วมกัน ขายโดยอีกฝ่ายไม่ยินยอมไม่ได้ ต้องแบกรับภาระหนี้สินร่วมกัน และสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีที่ต้องหารเฉลี่ยรวมกัน ดังนั้น หากบ้านหลังนี้ไม่ได้เป็นบ้านหลังเดียวในชีวิต รวมถึงผู้กู้ร่วมไม่ได้เป็นคนที่จะอยู่ร่วมกันกับเราอย่างใกล้ชิดไปทั้งชีวิตจริงๆ แล้วล่ะก็ เราควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบและวางแผนอนาคตให้ดีก่อนทำการตัดสินใจกู้ร่วม เพราะเมื่อกู้ไปแล้ว จะทำให้เรามีหนี้สินติดตัวทันที ซึ่งจะทำให้โอกาสในการกู้ครั้งต่อๆ ไปของเราลดน้อยลงไปด้วยทันที

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

GH Bank

DDProperty



สมัครเป็นสมาชิกเว็บ REIC

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

รู้ข้อมูลอสังหาฯ ก่อนใคร

สมัครได้ฟรี ไม่มีเงื่อนไข

เพื่อให้การซื้อ-ลงทุนที่อยู่อาศัย

เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด

.

.

สมัครเลยที่

https://www.reic.or.th/Member/RegisterGeneral

.

.

------------------------

ติดตามศูนย์ข้อมูลฯ เพิ่มเติมได้ที่

 Website : www.reic.or.th

 Twitter : www.twitter.com/REICFan

 Youtube : www.youtube.com/user/REICPR

 Line : @REICFan

#ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ #REIC

Tags :  กู้ร่วมซื้อบ้าน รับผิดชอบหนี้ร่วมกัน ซื้อบ้าน