ผ่อนบ้านอยู่แต่อยากซื้ออีกหลัง ขอกู้อย่างไรให้ผ่านอนุมัติ
จังหวะชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ จากเดิมผ่อนบ้านหลังเล็ก ผ่อนคอนโดห้องเล็กอยู่คนเดียว เมื่อแต่งงานมีครอบครัว หรือมีลูก หรือต้องรับญาติพี่น้องเข้ามาอยู่ด้วย ก็อาจจะต้องซื้อบ้านหลังใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม หรือบางทีผ่อนบ้านอยู่กับครอบครัวอยู่ดี ๆ เกิดต้องย้ายที่ทำงานใหม่ ก็อาจมีเหตุให้ต้องไปผ่อนคอนโดห้องเล็กเพิ่มอีกห้องใกล้ออฟฟิศให้เดินทางทำงานสะดวกได้มากกว่า ฯลฯ ซึ่งเมื่อชีวิตเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ก็มักมีคำถามว่า จะสามารถผ่อนบ้านหลังที่ 2 เพิ่มได้ไหมถ้าหลังแรกยังผ่อนไม่หมด จะสามารถกู้ขอสินเชื่อกับธนาคารผ่านได้หรือไม่ คำตอบคือสามารถทำได้ แต่ก็ต้องเตรียมความพร้อมทางการเงินให้ดี โดยมีแนวทางที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขอกู้ซื้อบ้านหลังที่สองให้อนุมัติผ่านง่ายขึ้น ดังต่อไปนี้
- แสดงสถานะการเงินให้เห็นว่าเราผ่อนไหว
หลักการสำคัญที่สุดของการพิจารณาอนุมัติปล่อยกู้ของธนาคาร คือธนาคารจะยอมให้กู้ผ่านก็ต่อเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ขอกู้จะผ่อนไหว ดังนั้น ผู้ขอกู้จึงต้องเตรียมสถานะการเงินให้ธนาคารเห็นว่ามีความสามารถในการผ่อนชำระได้ ทั้งนี้ วิธีคิดหาความสามารถในการผ่อนชำระคือ คนเราไม่ควรมีภาระผ่อนเกิน 40% ของเงินเดือน เช่น ถ้าเราเงินเดือน 100,000 บาท ค่าผ่อนต่อเดือนก็ไม่ควรเกิน 40,000 บาท ดังนั้น หากบ้านหลังแรกเราต้องผ่อนอยู่เดือนละ 15,000 บาท ก็เท่ากับว่า เรายังเหลือความสามารถในการผ่อนอยู่อีก 25,000 บาท ถ้าหากขอกู้ซื้อบ้านที่ราคาผ่อนไม่เกิน 25,000 บาท ต่อเดือน โอกาสอนุมัติผ่านก็จะไม่ได้ยากเย็นอะไร แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมภาระหนี้สินอื่น ๆ ของเราด้วย เช่น ค่าผ่อนรถ หรือสินเชื่ออื่น ๆ โดยถ้าหากเราหนี้อื่นติดตัวอยู่มาก แล้วคำนวณพบว่าความสามารถในการผ่อนชำระไม่เพียงพอ ก็อาจจะกู้ไม่ผ่านได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้เอง หากอยากกู้ซื้อบ้านหลังที่สองผ่านในขณะที่ยังผ่อนหลังแรกอยู่ เราก็ต้องประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของตัวเองให้เป็น เพื่อจะได้เลือกบ้านหลังที่สองได้ในราคาที่เหมาะสมกับการขอกู้ให้ผ่านง่ายขึ้น หรือหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เรามีความสามารถในการผ่อนชำระสูงขึ้นนั่นเอง
- ใช้วิธีขอสินเชื่อบ้านแบบกู้ร่วม
ในเมื่อเหตุผลที่จะทำให้กู้ไม่ผ่านเป็นเพราะธนาคารมองว่าเราผ่อนไม่ไหว รายได้ไม่มากพอ รวมถึงมีหนี้บ้านหลังแรกค้ำคอ มีหนี้อื่น ๆ ประกอบจนเพิ่มความเสี่ยง ซึ่งถ้าเราไม่สามารถเพิ่มความสามารถในการผ่อนชำระให้ตัวเองได้โดยตรง ก็ต้องให้คนที่มีความสามารถในการผ่อนชำระมากู้ร่วมกับเราเพื่อช่วยผ่อน การขอกู้ร่วมจะเปรียบได้กับการเอาเงินเดือนของคนสองคนมารวมกัน เอาความสามารถในการผ่อนชำระของคนสองคนมารวมกันจึงทำให้สถานะการเงินดีขึ้นกว่ากู้คนเดียวหลายเท่า จึงมีโอกาสทำให้กู้ซื้อบ้านหลังที่สองผ่านได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ เราก็จำเป็นต้องพิจารณาสถานะการเงินของผู้กู้ร่วมด้วยว่าเป็นอย่างไร เพราะถ้าเงินเดือนผู้กู้ร่วมไม่สูง มีหนี้ติดตัวเยอะ เมื่อรวมกันแล้วก็อาจจะขอกู้ร่วมไม่ผ่านอยู่ดีก็เป็นได้
- ทำให้หนี้ที่มีอยู่เหลือน้อยที่สุด
ความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้จะเพิ่มขึ้นได้ ถ้าไม่ได้มาจากการหารายได้เพิ่ม หาคนมากู้ร่วมด้วย ก็ต้องทำให้หนี้เดิมที่มีอยู่นั้นน้อยลง เพราะเมื่องวดผ่อนต่อเดือนน้อยลงก็จะทำให้ความสามารถในการผ่อนเพิ่มขึ้นทันที โดยแนวทางที่สามารถทำได้นั้น มีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่ การรีไฟแนนซ์บ้านหลังแรกให้ดอกเบี้ยต่ำลงยอดผ่อนลดลง แต่ก็จะทำได้ในกรณีที่ผ่อนมาแล้ว 3 ปีเท่านั้น ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือ การวางเงินดาวน์ในการซื้อบ้านหลังที่ 2 ให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าเราวางเงินดาวน์เยอะ ยอดกู้ก็จะน้อยลง ก็เท่ากับว่าหนี้ หรืองวดผ่อนของหลังที่สองก็จะน้อยลง ทำให้ความสามารถในการผ่อนของเรามีโอกาสได้รับอนุมัติจากธนาคารผ่านได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
แม้จะผ่อนบ้านหลังแรกหรือคอนโดห้องแรกยังไม่หมด เราก็มีโอกาสที่จะขอกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือคอนโดห้องที่สองเพิ่มจากธนาคารได้ โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่เราต้องมีสถานะการเงินที่มั่นคง มีรายได้ที่มากพอที่จะผ่อนชำระได้อย่างไม่มีปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีสถานะการเงินที่มั่นคง มีความสามารถในการผ่อนชำระที่ธนาคารยอมให้อนุมัติผ่านแล้ว ตัวเราเองก็ต้องมั่นใจด้วยว่าจะมีวินัยทางการเงินมากพอที่จะบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการผ่อนบ้านพร้อมกันสองหลังนั้น ถือเป็นภาระที่หนักอึ้ง ซึ่งหากบริหารจัดการเงินไม่ดี หรือประเมินความเสี่ยงทางการเงินไว้ไม่รอบคอบพอ เช่น ตกงานกลางครัน ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถหมุนเงินได้ทันและก่อให้เกิดวิกฤตการเงินขึ้นกับชีวิตและครอบครัวคนที่รักได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง