สถานการณ์ที่อยู่อาศัยใน EEC ไตรมาส 1 ปี 2567
Loading

สถานการณ์ที่อยู่อาศัยใน EEC ไตรมาส 1 ปี 2567

วันที่ : 25 มิถุนายน 2567
จากรายงานเศรษฐกิจของประเทศไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2567 มีการขยายตัวของ GDP เพียงร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาส 4 ปี 2566
7 องค์ประกอบ แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

จากรายงานเศรษฐกิจของประเทศไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2567 มีการขยายตัวของ GDP เพียงร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาส 4 ปี 2566 ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวจากภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคเกษตรและหมวดอุตสาหกรรมลดลง ด้านการใช้จ่ายรัฐบาลและการลงทุนรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ รวมไปถึงการบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอลง ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 - 3.0

สำหรับภาวะอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่าด้านอุปทานใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน มีจำนวนโครงการลดลงร้อยละ -37.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2566 ส่งผลให้ในหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรลดลงเกือบทุกประเภท ยกเว้นประเภทบ้านเดี่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 44.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หากพิจารณาลงแต่ละพื้นที่พบว่า จังหวัดชลบุรีมีใบอนุญาตจัดสรรมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.8 ของใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั้งหมด และมีใบอนุญาตจัดสรรเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.3 (เพิ่มขึ้นในประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์) รองลงมาเป็นจังหวัดระยอง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.6 มีใบอนุญาตจัดสรรลดลงร้อยละ -45.8 (ลดลงเกือบทุกประเภทยกว้นประเภทบ้านเดี่ยว) และจังหวัดฉะเชิงเทรา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.6 มีใบอนุญาตจัดสรรลดลงร้อยละ -82.4 (ลดลงทุกประเภท)

ส่วนอุปทานข้อมูลพื้นที่อนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่าภาพรวมลดลงร้อยล่ะ -8.1 โดยเป็นการลดลงของ พื้นที่อนุญาตก่อสร้างแนวราบร้อยละ -13.5 (ลดลงเกือบทุกประเภทยกเว้นประเกทบ้านแฝด ในขณะที่พื้นที่อนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยของอาคารชุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 112.7 โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง

สำหรับในด้านอุปสงค์ที่พบว่า การโอนกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีการหดตัวทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าถึงร้อยละ -16.7 และร้อยละ -14.3 ตามลำดับ พบว่าในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC มีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์เป็นบ้านแนวราบเกือบ 3 ใน 4 ของการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด และเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านใหม่ (การโอนจากนิติบุคคล) ประมาณร้อยละ 43 ของยอดโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด

จากอุปทานและอุปสงค์ที่ลดลงในไตรมาส 1 ปี 2567 ทั้งนี้อาจจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัจจัยลบ ในปี 2566 ที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.50 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2567 และยังมีแนวโน้มคงตัวในระดับสูงต่อไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ การยกเลิกการผ่อนปรนมาตรการ LTV ของธปท. ราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้น และปัจจัยสี่ยงสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และค่าครองชีพที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน รวมถึงภาวะหนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 90 แต่ถึงอย่างไร ยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากรัฐบาลที่ออกมาตรการมากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในเรื่องการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และการจดจำนองจากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 3 ล้านบาทที่ครอบคลุมทั้งบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสองมาจนถึงเดือนมีนาคม 2567 และเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 รัฐบาลมีการออกมาตรการมากระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม โดยลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 1 เหลือประเภทละร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว หรือห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยเพิ่มราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์จากเดิมที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ไปเป็นวงเงินที่ไม่เกิน 7 ล้านบาท ซึ่งมีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
 
สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่
E-book สถานการณ์ที่อยู่อาศัยในจังหวัด EEC อื่นๆ