แผ่นดินไหวสะเทือนตึกสูงหมื่นแห่ง
Loading

แผ่นดินไหวสะเทือนตึกสูงหมื่นแห่ง

วันที่ : 4 พฤษภาคม 2568
สถาพร เอสเตท กล่าวว่า สถานการณ์เดือนเมษายนไม่ดี ด้วยมีลูกค้าคอนโดขอยืดเวลาการโอนออกไปอีก 2-3 เดือน สัดส่วนมากกว่า 50% เพื่อขอรอดูความเรียบร้อยของโครงสร้างหลังเกิดแผ่นดินไหว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มราคาระดับกลาง-บน อย่างของเรา ราคาเริ่มตั้งแต่ 7 ล้านบาท ถึง 25 ล้านบาท
    'ช่างซ่อม-วิศวกร' ตรวจสอบคิวแน่น

    ลูกค้าคอนโดสบช่องแห่ 'ชะลอโอน'

    แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการประสบปัญหาต้องใช้เวลาในการตรวจสอบโครงสร้าง อาคารสูง ไม่ว่า คอนโดมิเนียม โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ต้องรอคิวช่างและคิววิศวกรเซ็นรับรองนาน เป็น 700-800 คิวต่ออาคาร เนื่องจากอาคารสูงทั่วประเทศที่ต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรงมีกว่า 10,000 แห่ง ซึ่งเป็นอาคารอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯกว่า 5,000 แห่ง ขณะที่วิศวกรตรวจสอบที่มีอำนาจในการ เซ็นรับรองนั้นมีไม่ถึง 3,000 คนเท่านั้น และจากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจชะลอโอนโครงการคอนโดมิเนียมของลูกค้าออกไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งทางกรมโยธาธิการและผังเมืองกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบความเสียหายในเบื้องต้นเท่านั้น ทางเจ้าของอาคารจะต้องมีวิศวกรที่ขึ้นทะเบียนแล้วมาเซ็นรับรองว่าโครงสร้างของอาคารมีความแข็งแรงหรือไม่

   นายสุนทร สถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จากนั้นบริษัทได้ทำการตรวจสอบโครงสร้างของโครงการคอนโดมิเนียม จำนวน 2 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งยอมรับว่าใช้เวลาในการตรวจสอบค่อนข้างนาน ประมาณ 16-17 วัน เนื่องจากต้องรอคิวช่างและวิศวกร ทั้งนี้ โครงการของบริษัทใช้เวลาไม่นานมาก เนื่องจากมีเพียง 2 อาคาร และจำนวนยูนิตไม่มาก แต่ถ้าเป็นโครงการที่มียูนิตมากกว่า 1,000 ยูนิต อาจจะต้องใช้เวลารอช่างนานและใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 6-7 เดือนกว่าจะสามารถเก็บความเรียบร้อยทั้งหมดได้

   "สถานการณ์เดือนเมษายนไม่ดี ด้วยมีลูกค้าคอนโดขอยืดเวลาการโอนออกไปอีก 2-3 เดือน สัดส่วนมากกว่า 50% เพื่อขอรอดูความเรียบร้อยของโครงสร้างหลังเกิดแผ่นดินไหว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มราคาระดับกลาง-บน อย่างของเรา ราคาเริ่มตั้งแต่ 7 ล้านบาท ถึง 25 ล้านบาท" นายสุนทรกล่าว

   นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ผลจากแผ่นดินไหวกระทบต่ออาคารสูงมีความเสียหายหลากหลายระดับ ทำให้การซ่อมบำรุงหรือซ่อมแซมใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากต้องรอคิวช่างและวิศวกรสำรวจการประเมิน เพื่อนำไปดำเนินการเคลมกับประกันภัย อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้น อาจมีผลต่อการตัดสินใจโอนของลูกค้าด้วย

   รายงานข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวว่า ปัจจุบันกรมมีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า 2,600 ราย ล่าสุด มีการต่ออายุและสมัครเข้ามาใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 30-40 คน หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้เจ้าของอาคารต้องเร่งตรวจสอบอาคารอย่างกระชั้นชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และตามที่หน่วยงานราชการสั่งให้ดำเนินการ จึงทำให้ความต้องการมีจำนวนมาก ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ตรวจสอบมีน้อยลง ต่างจาก เมื่อก่อนงานมีน้อยและการแข่งขันสูง ทำให้บางคนใบอนุญาตหมดแล้วไม่มาต่ออายุ

    รายงานข่าวกล่าวว่า โดยตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 อาคารที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรมตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไป สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตร.ม.ขึ้นไป อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัย รวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป และป้าย ให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ของตัวอาคาร พร้อมกับให้รายงานผลการตรวจสอบ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือ กทม.ทราบ พร้อมมาตรการควบคุมกรณีพบว่าอาคารมีความชำรุดในระดับต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้พักอาศัยและผู้ใช้อาคาร หากเจ้าของอาคารไม่ดำเนินการจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่ง กทม.ได้แจ้งมีอาคารต้องตรวจสอบประมาณ 11,000 แห่ง

    "จากเหตุแผ่นดินไหว กรมอยู่ระหว่างวิเคราะห์ความรุนแรงของเหตุการณ์ว่ามีความจำเป็นต้องปรับแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงดังกล่าว ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับแรงสั่นสะเทือนได้" รายงานข่าวกล่าว
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ