วิกฤตกำลังซื้อ-กู้ไม่ผ่านพุ่ง 45%
Loading

วิกฤตกำลังซื้อ-กู้ไม่ผ่านพุ่ง 45%

วันที่ : 10 เมษายน 2568
สถาพร เรียลเอสเตท กล่าวว่า ที่อยู่อาศัยแนวราบช่วง 7 วันแรก นับจากเหตุแผ่นดินไหวมีอัตราการค้นหาทางออนไลน์สูงขึ้นชัดเจนน่าจะส่งผลให้ที่อยู่อาศัยแนวราบทำให้ยอดโอนปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 5% จากเดิม ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ประเมินมียอดโอนที่ 2.3% ส่วนคอนโดสูงเกิน 8 ชั้น จะชะลอตัว 2-3 เดือน
   ฉุดตลาด 'อสังหาฯ' ขาดสภาพคล่อง แผ่นดินไหวจุดเปลี่ยนบ้าน-คอนโด

   ธุรกิจอสังหาฯซึมยาว โจทย์ยากรุมเร้า ทุบกำลังซื้อไม่ฟ้น กู้ไม่ผ่านพุ่ง 45% เอฟเฟ็กต์แผ่นดินไหวจุดเปลี่ยนตลาด บูมเช่า บ้านแนวราบ ชะลอผุดตึกสูง จับตาหุ้นกู้ 1.2 แสนล้านเสี่ยงผิดนัด

   นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหววันที่ 28 มีนาคม 2568 กระทบตึกสูงมากกว่าตึกเตี้ยและแนวราบ ทำให้เทรนด์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยเปลี่ยนไป ตลาดเช่าจะขยายตัวมากขึ้น คนอาจจะหายตกใจยังอยู่อาศัยในตึกสูง แต่เปลี่ยนจากซื้อเป็นเช่าแทน และเลือกเช่าคอนโด สูงขายวิวสวยๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงจะเป็นโอกาสของบ้านแนวราบ คงเห็นผู้ประกอบการชะลอเปิดโครงการคอนโดสูงๆ หันมาเปิดแนวราบย่านชานเมืองมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 นี้ อีกเทรนด์อาจได้เห็นคือ โครงการที่รับแรงสั่นแผ่นดินไหวได้จะเป็นจุดขายใหม่ ซึ่งต้องลงทุนเรื่องโครงสร้างให้มากกว่ากฎหมายที่กำหนดและส่งผลต่อราคาขายเพิ่ม เช่น คอนโด หากใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่นราคาขายจะเพิ่ม 15-20% ส่วนบ้านแนวราบปัจจุบันมีบางบริษัทขายบ้านรองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ซื้อ

   นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สถาพร เรียลเอสเตท จำกัด กล่าวว่า ที่อยู่อาศัยแนวราบช่วง 7 วันแรก นับจากเหตุแผ่นดินไหวมีอัตราการค้นหาทางออนไลน์สูงขึ้นชัดเจนน่าจะส่งผลให้ที่อยู่อาศัยแนวราบทำให้ยอดโอนปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 5% จากเดิม ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ประเมินมียอดโอนที่ 2.3% ส่วนคอนโดสูงเกิน 8 ชั้น จะชะลอตัว 2-3 เดือน อย่างไรก็ดีจากเหตุแผ่นดินไหวทาง 3 สมาคมอสังหาฯจะหารือกับผู้เชี่ยวชาญว่ามีความจำเป็นต้องออกแบบบ้านให้รองรับแผ่นดินไหวให้มากขึ้นกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งในส่วนของสถาพรคงต้องดูสำหรับโครงการคอนโดใหม่ที่สร้างเกิน 8 ชั้น

  "ปีนี้ตลาดอสังหาฯมีความท้าทายทั้งเศรษฐกิจ กำลังซื้อ แบงก์ปล่อยกู้ยาก ทำให้ยอดถูกปฏิเสธสินเชื่อหรือรีเจ็กต์เรตสูงขึ้น โดยผลสำรวจการขอสินเชื่อของลูกค้ารายย่อยจากแบงก์เอกชนและรัฐในไตรมาส 1/2568 จาก 22 บริษัท ซึ่งมี 272 โครงการอยู่ระหว่าง การขาย มียอดรีเจ็กต์เรตทุกระดับราคาที่ 45% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 40% มากสุดต่ำกว่า 3 ล้านบาท รองลงมา 3-5 ล้านบาท รวม 2 กลุ่มสูงถึง 90% ส่วนใหญ่ติดเครดิตบูโร ภาระหนี้สูง รายได้ไม่มั่นคง และผลจากรีเจ็กต์เรตนี้ ทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไม่รับโอน สต๊อกมีอยู่กว่า 2 แสนหน่วยใช้เวลาการขายนานขึ้นเป็น 5-6 ปี กระทบยอดขาย รายได้ การลงทุนโครงการใหม่ ขาดสภาพคล่อง จึงอยากให้แบงก์ผ่อนปรนมากขึ้น" นายสุนทรกล่าว

  นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยอดขายและยอดโอนยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาสภาพคล่องอสังหาฯจึงสำคัญที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการต้องพึ่งแบงก์หรือออกหุ้นกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่ปัจจุบันการออกหุ้นกู้ลำบาก โดยปีนี้มีหุ้นกู้อสังหาฯครบกำหนดชำระ 121,054 ล้านบาท ในนี้มีจำนวนหนึ่งที่จะต้องชำระคืนเดือนเมษายนพฤษภาคมนี้ จึงอยากให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อให้ ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม