6พื้นที่คนสนใจซื้อที่อยู่สูงสุด กทม.ยืนหนึ่ง บางนา บางแค มาแรง
Loading

6พื้นที่คนสนใจซื้อที่อยู่สูงสุด กทม.ยืนหนึ่ง บางนา บางแค มาแรง

วันที่ : 11 มีนาคม 2568
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใน กทม.- ปริมณฑลไตรมาส 4/67 พบว่าซื้อเพื่อลงทุน "ชะลอ" 6 พื้นที่คนสนใจซื้อ กทม.ยืนหนึ่งบางนา บางแค ลาดพร้าว สุขุมวิท บางกะปิ มาแรง
   ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงาน “ดัชนีความเชื่อมั่นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาสที่ 4 ปี 2567”  พบว่า ประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 42.9 เพิ่มขึ้น 2.4 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 40.5 (QoQ) รวมถึงสัดส่วนของผู้ที่วางแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยภายใน 6 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 28.2% จาก 24.7% ในไตรมาสก่อนหน้า

   ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการปรับลดของอัตราดอกเบี้ย และสถาบันการเงินมีการจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำ สามารถกระตุ้นกำลังซื้อในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยข้อมูลส่วนใหญ่พบว่า ประชาชนมีการซื้อที่อยู่อาศัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัยเอง 32.1% มากกว่าซื้อเพื่อการลงทุน 15.8% และส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชน 55.1% มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ในช่วง 15,001 – 30,000 บาท 34.4% และต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคา 2–3 ล้านบาท มากที่สุด 25.3%

   ขณะที่ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีความต้องการมากที่สุดยังคงเป็นประเภทบ้านเดี่ยว 40.6% ในระดับราคา 3–5 ล้านบาท และต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ มากที่สุด 56.1% โดยเฉพาะในย่านเศรษฐกิจส่วนปริมณฑลมีความต้องการซื้อในจังหวัดนนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นครปฐม และสมุทรสาคร ตามลำดับ

  > จากข้อมูลความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 พบว่า ประชาชน "ชะลอ" การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน แต่เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองมากขึ้น โดยผลจากการสำรวจพบว่า ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ 32.1% ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อันดับสองคือ ต้องการซื้อลงทุนเพื่อเก็งกำไร/ให้เช่า 15.8% และอันดับสาม ซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สิน 14.6%

   3 วัตถุประสงค์แรกมีสัดส่วน "ลดลง" เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยหลักของความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เนื่องจากต้องการแยกครอบครัวหรือแต่งงาน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 8.9% เป็น 10.3%

   ขณะที่บางกลุ่มต้องการความสะดวกในการเดินทาง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 8.9% เป็น 9.0% ต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 8.1% เป็น 8.5% และต้องการนวัตกรรมบ้านอัจฉริยะ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 3.1% เป็น 3.6% ซึ่งมีแนวโน้มที่ค่อยๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น

  > ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยพบว่าส่วนใหญ่มีความต้องการซื้อ "บ้านเดี่ยว" ระดับราคา 3–5 ล้านบาท มากที่สุด รองลงมาคือ คอนโดมิเนียม ในระดับราคา 2–3 ล้านบาท มากที่สุด สำหรับทาวน์เฮ้าส์มีความต้องการซื้อในระดับราคา 2–3 ล้านบาท มากที่สุด ส่วนบ้านแฝดมีความต้องการซื้อ ในระดับราคา 3-5 ล้านบาท มากที่สุด และอาคารพาณิชย์มีความต้องการซื้อ 0.2% ต้องการซื้อเพียงระดับราคาเดียวคือ ระดับราคา 2–3 ล้านบาท

   โดยภาพรวมช่วงราคาของที่อยู่อาศัยที่ต้องการซื้อ ส่วนใหญ่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคา 2–3 ล้านบาท 25.3% และระดับราคา 3–5 ล้านบาท 22.8% ซึ่งทั้ง 2 ช่วงระดับราคาดังกล่าวเป็นกลุ่มระดับราคาหลัก มีสัดส่วนรวมกันถึง 48.1% โดยไตรมาสนี้ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคา 1– 3 ล้านบาท และระดับราคา 5–7 ล้านบาทเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)
 
    6 อันดับพื้นที่ ที่ได้รับความสนใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัย

   อันดับ 1 ได้แก่ กรุงเทพฯ มีสัดส่วนความต้องการที่อยู่อาศัย 56.1% ในระดับราคา 2-3 ล้านบาทมากที่สุด คิดเป็น 26.2% โดยเฉพาะในทำเลที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจ ใกล้แหล่งงาน เช่น บางนา บางแค ลาดพร้าว สุขุมวิท และบางกะปิ

   อันดับ 2 ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี มีสัดส่วนความต้องการที่อยู่อาศัย 8.7% ในระดับราคา 2-3ล้านบาทมากที่สุด คิดเป็น 29.1%

   อันดับ 3 ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี มีสัดส่วนความต้องการที่อยู่อาศัย 7.2% ในระดับราคา 2-3ล้านบาทมากที่สุด คิดเป็น 27.2%

   อันดับ 4 ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ มีสัดส่วนความต้องการที่อยู่อาศัย 6.2% ในระดับราคา 2-3ล้านบาทมากที่สุด คิดเป็น 29.2%

   อันดับ 5 ได้แก่ จังหวัดนครปฐม มีสัดส่วนความต้องการที่อยู่อาศัย 3.8% ในระดับราคา2-3ล้านบาทมากที่สุด คิดเป็น 32.1%

   อันดับ 6 ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร มีสัดส่วนความต้องการที่อยู่อาศัย 2.6% ในระดับราคา 3-5 ล้านบาท มากที่สุด คิดเป็น 46.7%

   ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ นอกพื้นที่กรุงเทพฯ –ปริมณฑล มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยร่วมกันที่ 15.4%