ปี'68 ตลาดคอนโด-สนง.รอฟื้นตัว ราคาที่ดินกทม.ชะลอตามภาวะอสังหาฯ
Loading

ปี'68 ตลาดคอนโด-สนง.รอฟื้นตัว ราคาที่ดินกทม.ชะลอตามภาวะอสังหาฯ

วันที่ : 24 กุมภาพันธ์ 2568
"คอลลิเออร์สฯ" มองตลาดคอนโด และ อาคารสำนักงาน ปี 68 ยังไม่สดใส หน่วยเปิดขายใหม่โครงการคอนโดฯ 25,000 ยูนิต มูลค่า 1.2-1.4 แสนล้าน จับตา ออฟฟิศ ปีนี้น่ากลัว ซัปพลายทะลัก เผยแนวโน้มราคาที่ดินในเมือง ชะลอตัวตามภาวะตลาดอสังหาฯ แต่ไปคึกคักที่หัวเมืองท่องเที่ยว ภูเก็ต พัทยา
      นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2568 ตลาดธุรกิจที่เกี่ยวกับโรงแรม ธุรกิจรีเทล นิคมอุตสาหกรรม ยังเติบโตได้ดีอยู่ เนื่องจากมีการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว ที่ปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนในประเทศไทยปีนี้ยังอยู่ในตัวเลขที่สูง ส่งผลต่อเนื่องให้ธุรกิจค้าปลีก ขยายตัว รวมถึงสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาเพิ่มสาขาในประเทศไทย หลังจากที่ชะลอตัวในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ การย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทยที่สูงขึ้น ทำให้ตลาดธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมียอดขายที่ดี เอกชนรายใหญ่ ขยายการลงทุนจัดหาที่ดินรองรับการพัฒนานิคมฯ เพิ่มขึ้น

     อย่างไรก็ตาม ยังมีบางตลาดที่ยังต้องรอโอกาสฟื้นตัว เช่น ตลาอสังหาฯ ประเภทแนวสูง คอนโดมิเนียม และตลาดธุรกิจอาคารสำนักงาน ที่ซัปพลายใหม่ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มเติมเข้าสู่ตลาด

    โดยหากแยกเป็น ตลาดคอนโดฯ จะพบว่า ในปี 2567 ในกรุงเทพฯ ปีที่ผ่านมา เปิดใหม่กว่า 21,800 ยูนิต เปิดใหม่ลดลง 35% มีมูลค่ารวม 110,000 ล้านบาท มูลค่าหายไป 30,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยทำเลที่เปิดมากสุดเป็นโซนกรุงเทพฯตอนเหนือ เช่น โซนรัชดา ลาดพร้าว

    สำหรับ ปี 2568 แนวโน้มคาดว่าจะมีเปิดใหม่ 21,000-25,000 ยูนิต มูลค่า 120,000-140,000 ล้านบาท ระดับราคาตั้งแต่ 80,000-100,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปีนี้ เปิดตัวแล้วกว่า 3,900 ยูนิต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะมุ่งพัฒนาโซนรถไฟฟ้าสายสีชมพู สีเหลือง และสีส้มมากขึ้น เพราะราคาที่ดินยังไม่สูง ทำให้ยังสามารถพัฒนาคอนโดในราคา 70,000-80,000 บาทต่อ ตร.ม. ได้  

    "พบว่า แคมปัสคอนโด เป็นตลาดที่ยังมีการเติบโต เราเห็นว่า ช่วงต้นปี มีหลายแบรนด์มาเปิดสินค้าแคมปัส หลายโครงการ หรือ แม้แต่ คอนโดที่ได้เห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยา ยังคงดี ต่อเนื่อง ส่วนคอนโดราคาต่ำล้าน จะไม่มีในตลาดแล้ว เพราะราคาที่ดินแพง อย่างไรก็ดี แม้ปีนี้ตลาดคอนโดกรุงเทพฯ จะมีเปิดใหม่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่มากนัก เพราะยังติดปัญหาเรื่อง รีเจกต์เรตที่ยังสูง ดังนั้น อยากให้รัฐบาลต่อมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ออกไปอีก เช่น ลดค่าโอนและจำนอง 0.01% ลดภาษีบ้านหลังแรก เป็นต้น"

     ในส่วนของตลาดอาคารสำนักงาน เป็นตลาดที่น่ากลัวที่สุดในธุรกิจอสังหาฯ ตอนนี้ จะเห็นได้ว่าปลายไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา มีการเปิดให้บริการของอาคารสำนักงานเกรดเอ ของโครงการ วัน แบงค็อก (เฟส 1) พื้นที่รวม 289,000 ตร.ม. โครงการ PUNN Rama 4 ประมาณ 22,499 ตร.ม. และ KingBridge Tower อีก 44,721 ตร.ม. ซึ่งตัวเลขรวมของพื้นที่อาคารสำนักงานในตลาดประมาณ 10.26 ล้าน ตร.ม. เพิ่มขึ้น 3.79% เทียบช่วงเดียวกันของปี 66 และคาดว่าในปีนี้ จะมีซัปพลายใหม่เข้าสู่ตลาดอีก 1.1 ล้าน ตร.ม.

    "เฉพาะแค่ วัน แบงค็อก ก็เติมซัปพลายเข้ามาเยอะ สิ่งที่เราเห็น คือ พื้นที่สำนักงานยังมีว่างเป็นล้าน ตร.ม. แต่อัตราดูดซัปได้จริงประมาณแค่ 1.8-2.3 แสน ตร.ม. เท่านั้น แต่ก็มีผู้นำตลาดบางแบรนด์ ที่ปรับไปเน้นไปรุกตลาดโรงแรม เช่น AWC"

     นายภัทรชัย กล่าวถึงแนวโน้มราคาที่ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2568 มีการปรับตัว สูงขึ้นประมาณ 3-5% ถือเป็นการปรับตัวในทิศทางที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2567 ที่ปรับขึ้น 4-5% แต่ถ้าดูเฉพาะในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ หรือ CBD ยังคงปรับตัวสูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 5% ลดลงจากปี 2567 ราคาที่ดินใน CBD ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.93%

    "ขณะนี้ ยังไม่มีการปิดดีลซื้อขายที่ดิน ที่มีราคาสูงสุดเท่ากับของ แสนสิริ ที่ซื้อที่ดินย่านสารสินในราคา 3.9 ล้านบาทต่อตารางวาเมื่อหลายปีก่อน ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา มีที่ดินในย่านถนนวิทยุที่มีการเสนอขายมากกว่า 4 ล้านบาทต่อตารางวา แต่เป็นราคาที่ดินที่รวมทรัพย์สิน ทั้งนี้ สิ่งที่เราเห็น ราคาที่ดินในกรุงเทพฯมีแนวโน้มชะลอตัว ไม่มีปัจจัยบวก เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผู้ประกอบการอสังหาฯมีความระมัดระวังในการซื้อที่ดินใหม่และพัฒนาโครงการใหม่ จะซื้อเฉพาะแปลงที่มีศักยภาพ แต่ภาพที่เห็น ผู้ประกอบการจะหันไปเน้นตลาดหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา"

 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ