อสังหาฯ-นิคมฯ-ก่อสร้างบูม รับอานิสงส์ลงทุนโต KTB ชี้ดันเศรษฐกิจไทยฟื้น
Loading

อสังหาฯ-นิคมฯ-ก่อสร้างบูม รับอานิสงส์ลงทุนโต KTB ชี้ดันเศรษฐกิจไทยฟื้น

วันที่ : 20 กุมภาพันธ์ 2568
Krungthai COMPASS แบงก์กรุงไทย (KTB) ประเมินจีดีพีไทยปีนึ้ขยายตัว 2.7% ได้แรงหนุนจากการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มกลับมาโต 3.0% จากที่เคยหดตัว -1.6% ในปี 67 จากอานิสงส์ของการไหลเข้าจาก FDI คาด 3 ธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ในระยะแรก ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง คาดจะมีความต้องการสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นปีละ 0.85-1.05 แสนล้านบาท
   นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ปีนี้การลงทุนภาคเอกชนจะเป็นเครื่องยนต์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 3% ในระยะถัดไปประเมินว่า เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จากจีนจะมีบทบาทกับการลงทุนของไทยมากขึ้น เห็นได้จากช่วง 9 ปีที่ผ่านมา FDI จากจีนอยู่ในเทรนด์ขาขึ้นอย่างชัดเจน สวนทางกับแชมป์เก่าอย่างญี่ปุ่นที่เป็นเทรนด์ขาลง ในปี 2567 FDI จากจีนมีมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนถึง 1.75 แสนล้านบาท สูงกว่าญี่ปุ่น 3-4 เท่าตัว

   “ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของการลงทุนจากจีน เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการดึงดูด FDI ที่โดดเด่นไม่เป็นรองกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนจากมุมมองของต่างชาติ เช่น Milken Institute คลังสมองชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ชี้ว่าไทยติดอยู่ในอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศ Emerging and Developing Asia เป็นรองเพียงมาเลเซีย จากการมีจุดเด่นเรื่อง สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ และความพร้อมของบริการด้านการเงิน ส่วนจุดที่ยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ คือ การปกป้องสิทธิของนักลงทุน และความสอดคล้องกับกฎระเบียบสากล” นายกณิศ กล่าว

    ขณะที่ ดร. สุปรีย์ ศรีสำราญ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ในระยะแรก FDI ที่ปรับตัวสูงขึ้นจะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยใน 3 ธุรกิจสำคัญ ได้แก่ 1.ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจากความต้องการซื้อที่ดินและสาธารณูปโภค 2.ธุรกิจก่อสร้างจากความต้องการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจเพิ่มขึ้นปีละ 0.85-1.05 แสนล้านบาท 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการพัฒนาคอนโดมิเนียมเพื่อขายให้กับชาวต่างชาติ ซึ่งมักซื้อคอนโดมิเนียมที่มีราคาเฉลี่ยถึง 4.7 ล้านบาทต่อยูนิต สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทยถึง 114%”

    ในระยะข้างหน้า ยังต้องติดตาม 5 ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อ FDI ได้แก่ 1.ภาวะสงครามการค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ-จีน 2.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก 3.กฎระเบียบของโลกและประเทศคู่ค้า 4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย 5.ความพร้อมด้านเทคโนโลยี
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ