โรงเรียนนานาชาติแข่งดุ บิ๊กธุรกิจบุกเมืองท่องเที่ยว
วันที่ : 5 กุมภาพันธ์ 2568
ธุรกิจน่าจับตาปี'68 โรงเรียนนานาชาติบานสะพรั่ง ผุดทั่วไทย 249 แห่ง เชียงใหม่แข่งเดือด ทั่วประเทศเปิดเพิ่ม 10 โรงเรียน จ่อศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน นักธุรกิจ-ตระกูลดังแห่ลงทุน "เรนวูด" พัฒนาคู่มิกซ์ยูส 5 หมื่นล้าน "อรสิริน-ตะล่อมสิน- ศรีวิกรม์-เจียรวนนท์-โสภณพนิช" ปักหมุดเมืองท่องเที่ยว
ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนหลักสูตร International มีการขยายตัวอย่างสูงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยวที่มีนักธุรกิจและชาวต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต โดยมีการเปิดหลักสูตรการสอนทั้งหลักสูตรภาษาอังกฤษและภาษาจีนเป็นภาษาหลัก
เชียงใหม่แข่งดุเปิดปีละแห่ง
นายบุญเอนก มณีธรรม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนต้นกล้า ที่ใช้หลักสูตร International Program ภาษาอังกฤษ 80% และภาษาไทย 20% ในจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอน หลักสูตร International Program ถือว่าเข้มข้น ขณะนี้มีโรงเรียนลักษณะนี้อยู่ประมาณ 20 แห่ง มีการลงทุนเปิดใหม่ปีละ 1 แห่ง
ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติเติบโต และมีนักเรียนไทยเพิ่มขึ้นในแต่ละปี มาจาก 3 เหตุผล คือ ผู้ปกครองต้องการให้ลูกมีการใช้ภาษาอังกฤษที่มาตรฐาน และได้เรียนในหลักสูตรระดับมาตรฐานโลก และปฏิเสธวิถีการเรียนการสอนแบบไทย ๆ
"ผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ต้องการให้ลูกได้อยู่ในระบบโรงเรียนนานาชาติเต็มรูปแบบ จึงต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับหลักสูตรที่มาตรฐาน จากเกรด 1 ถึงเกรด 12 ประมาณ 20 ล้านบาท ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในเชียงใหม่ถือว่าแข่งกันดุ แต่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาว่าจะลงทุนเพิ่มในระดับมัธยมศึกษา" นายบุญเอนกกล่าว
สำหรับโรงเรียนต้นกล้า ใช้หลักสูตรปฐมวัยบูรณาการกับกระบวนการเรียนรู้ของ Toolkit Curriculum จากฟินแลนด์ ส่วนระดับประถมศึกษาใช้หลักสูตร International Primary Curriculum (IPC) ที่เน้นการเรียนรู้แบบองค์รวม เปิดรับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลประถมศึกษาปีที่ 6 เน้นให้การศึกษาตามความต้องการของผู้เรียน และความงอกงามทางปัญญา
ไทยศูนย์กลาง รร.นานาชาติอาเซียน
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ระบุว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติ 249 แห่ง นักเรียน 77,734 คน โดยเพิ่มขึ้น 10% จากในปีที่ผ่านมา ที่มีโรงเรียนนานาชาติ 236 แห่ง นักเรียน 70,200 คน ในปี 2566
นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของโรงเรียนนานาชาติในภูมิภาคอาเซียน ด้วยจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด ไม่ได้จำกัดเฉพาะในกรุงเทพมหานคร หรือเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่จังหวัดใหญ่และเป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น และชลบุรี
"มีการเปิดโรงเรียนนานาชาติใหม่เพิ่มขึ้น 10% สะท้อนถึงความเชื่อมั่น โดยมี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่เปิดรับนักเรียนชาวไทยและกลุ่มที่เปิดรับนักเรียนชาวต่างชาติ"
นอกจากนี้ยังมีนักเรียนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน ที่เลือกส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในโรงเรียนนานาชาติของไทยด้วย
นายศุภเสฏฐ์กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติมีความนิยมสูงขึ้น คือ ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนเอกชนทั่วไป รวมถึงโรงเรียนรัฐบาลที่มีหลักสูตรพิเศษและอัตราค่าเทอมมีความใกล้เคียงกับโรงเรียนนานาชาติ ส่งผลให้กระแสความนิยมขยายวงกว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ธุรกิจอสังหาฯแห่ลงทุนเพิ่ม
ช่วงปี 2567-2568 มีโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่กว่า 10 โรงเรียน อาทิ อาณาจักรเรนวูด ปาร์ค เมกะมิกซ์ยูส 5 หมื่นล้าน โดยมี "พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล" เป็นผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ KIS International School Reignwood Park ถือฤกษ์เปิดการเรียนการสอนไปเดือนสิงหาคม 2567
โดยเปิดรับนักเรียนอายุ 3-14 ปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ล้ำสมัย ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย และที่พักสำหรับนักเรียนหญิงและชายที่อยู่ประจำตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป
นอกจากนี้ ยังมีห้องเรียนที่กว้างขวางสำหรับกิจกรรมที่หลากหลาย ตลอดจนหอประชุมและศูนย์นิทรรศการ 1,000 ที่นั่ง ศูนย์กีฬา สระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก ศูนย์พัฒนากอล์ฟ และสเตเดี้ยม กีฬาขนาด 1,000 ที่นั่ง
จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริษัท เพชรทักษิณ ปิโตรเลียม จำกัด เปิดโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรเคมบริดจ์ในทุกช่วงชั้นแบบเต็มระบบ "โรงเรียนนานาชาติบาลานซ์สุราษฎร์ธานี" ตั้งแต่ระดับชั้นเตรียมอนุบาล-ม.1 (Toddler-Year 7) ที่ได้เปิดปีการศึกษาแรกเมื่อเดือนกันยายน 2567
โดยมี "สม-สุเมธ แซ่โค้ว" เป็นผู้ก่อตั้ง เป็นโรงเรียนน้องใหม่ของสุราษฎร์ธานี และเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งที่ 9 ของจังหวัด มีพื้นที่ขยายการรองรับเต็มที่ 29 ไร่ ได้ทำการก่อสร้างระยะแรกบนพื้นที่ 13 ไร่ มี 2 อาคารเรียนรับนักเรียนระดับเตรียมอนุบาล จนถึง ม.1 โดยพัฒนาการเรียนการสอนตามหลักสูตรเคมบริดจ์
ล่าสุด กลุ่มตะล่อมสิน ประกาศตัวแลกไลน์ธุรกิจครั้งแรกด้วยการเปิด พรีสกูลใหม่ล่าสุดของไทย ชื่อว่า li'lberry International Preschool เพราะเห็นการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบันที่กำลังมาแรง
สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนของ ลิลเบอร์รี่ อินเตอร์เนชั่นแนล พรีสคูล มีการสอน 3 ภาษา ด้วยอัตราส่วน อังกฤษ 60% ไทย 30% และจีน 10% โดยผสานภาษาจีนเข้าไปในการเรียนการสอนทุกวิชา มีทั้งสิ้น 5 ระดับชั้น ประกอบด้วย
ระดับ Pre Nursery, Nursery, K1, K2 และ K3 สามารถรองรับนักเรียนได้สูงสุดถึง 200 คน เปิดรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 18 เดือน-6 ปี พร้อมเปิดดำเนินการเทอมแรกในเดือนสิงหาคม 2568 บนทำเลย่านพระราม 3
ขณะเดียวกัน บริษัท อรสิรินโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมเปิดตัวโรงเรียนนานาชาติ Mill Hill นอกประเทศ อังกฤษเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 และเตรียมจะเปิดเทอมแรกในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน
โดย Mill Hill เป็นโรงเรียนที่มี ชื่อเสียงทั้งในประเทศอังกฤษและระดับนานาชาติ ยาวนานกว่า 200 ปี ซึ่งถือเป็นแม่แบบของระบบการศึกษาของโลก
ตระกูลดังเร่งนำร่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ตระกูล "ศรีวิกรม์" ปัจจุบันได้ไปบุกเบิกลงทุนโรงเรียนนานาชาติมาระยะหนึ่ง โดยร่วมกับตระกูล "ทีปสุวรรณ" เจ้าของที่ดิน 1,200 ไร่ ทำเลตะวันออกของพัทยา และได้สร้างโรงเรียนนานาชาติรักบี้ ให้เป็นโรงเรียนประจำ
รวมถึงโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี โดยกลุ่มธนาคารกรุงเทพ ของตระกูล "โสภณพนิช" โดย นายชาลี โสภณพนิช, โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียนใน ตระกูล "เจียรวนนท์" นางวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ และโรงเรียนนานาชาติ เวอร์โซ โดยนายคีรี กาญจนพาสน์ เป็นผู้ก่อตั้ง
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ