เนอร์สซิ่งโฮมบูมรับดีมานด์ผู้สูงวัยพุ่ง ทำเลกรุงเทพฯ-ปริมณฑลยืนหนึ่ง
วันที่ : 6 ธันวาคม 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยสังคมผู้สูงอายุทั่วประเทศแตะ20% เนอร์สซิ่งโฮมบูมรับดีมานด์ผู้สูงวัยพุ่ง ทำเลกรุงเทพฯ-ปริมณฑลยืนหนึ่ง แนะพัฒนาพักอาศัยแบบเช่าระยะยาว-ซื้อสิทธิ์การอยู่อาศัย
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ได้ดำเนินการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุทั่วประเทศ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 พบว่า ในปี 2567 ประเทศไทยมีโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยที่เปิดบริการรวม 916 โครงการ แบ่งเป็นเนอร์สซิ่งโฮม( Nursing Home) จำนวน 832 โครงการ และ Residence จำนวน 84 โครงการ โดยส่วนใหญ่โครงการดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีจำนวนรวมกันถึง 516 โครงการ
ขณะที่อัตราการเข้าพักในเนอร์สซิ่งโฮม เฉลี่ยอยู่ที่70.91% โดยที่พักจะอยู่ในพื้นที่จ.กรุงเทพฯ มีจำนวนหน่วย และมีอัตราการเข้าพัก 69.21% ขณะที่จ.ชลบุรี มีอัตราการเข้าพักสูงถึง76.95% จ. นครราชสีมา มีอัตราการเข้าพัก73.71% และเชียงใหม่มีอัตราการเข้าพัก73.07 % ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่มีความนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุชาวไทยและชาวต่างชาติ
สำหรับอัตราการเข้าพัก เรสซิเดนซ์ จากการสำรวจพบว่าจ.สมุทรปราการ มีจำนวนหน่วยสูงที่สุด มีอัตราการเข้าพักสูงถึง70.91% ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ มีอัตราการเข้าพัก75.64 % สะท้อนถึงความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยในพื้นที่เขตเมืองและศูนย์กลางเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย จากการสำรวจพบว่า ราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยในกลุ่มเนอร์สซิ่งโฮมช่วงราคาเช่าของภาครัฐ ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ช่วงราคา 15,001-20,000 บาท คิดเป็น 46.76% ช่วงราคาเช่าของมูลนิธิ ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ช่วงราคา 15,001-20,000 บาท คิดเป็น 59.91% และช่วงราคาเช่าของเอกชน ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ช่วงราคา 15,001-20,000 บาท คิดเป็น 32.03%
ขณะที่โครงการในกลุ่ม เรสซิเดนซ์ช่วงราคาเช่าของภาครัฐ ที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ช่วงราคาเท่ากับหรือต่ำกว่า 10,000 บาท หรือ83.02% ส่วนช่วงราคาเช่าของเอกชน ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ช่วงราคา 30,001-50,000 บาท หรือ38.61 %
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย สะท้อนภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านความแตกต่างของระดับรายได้ และการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด ทำให้การออกแบบกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบ้านพักผู้สูงอายุ"จำเป็น"ต้องคำนึงถึงบริบทและศักยภาพที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่รวมถึงการพัฒนา
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ มองว่า กลไกทางการเงินที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จะช่วยสนับสนุนให้การพัฒนาบ้านพักผู้สูงอายุในประเทศไทยสามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน
โดยคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุ และความยั่งยืนทางการเงินของโครงการ เพื่อรองรับรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลาย เช่น การพัฒนาสินเชื่อสำหรับที่พักอาศัยแบบเช่าระยะยาว (Long-term Lease) หรือ การซื้อสิทธิ์การอยู่อาศัย (Right to Occupy)
ซึ่งอาจเหมาะสมกับผู้สูงอายุที่ต้องการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ช่วยสนับสนุนผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุให้ดีขึ้น
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ