'เฟรเซอร์ส' เขย่าพอร์ตแนวราบ แก้เกมกำลังซื้อฝืด-กู้แบงก์ไม่ผ่าน
Loading

'เฟรเซอร์ส' เขย่าพอร์ตแนวราบ แก้เกมกำลังซื้อฝืด-กู้แบงก์ไม่ผ่าน

วันที่ : 3 ตุลาคม 2567
เฟรเซอร์ส กล่าวว่า สำหรับในปี 2568 วางแผนเปิดตัวใหม่ 7 โครงการ เป็นแนวราบ 6 โครงการและคอนโดมิเนียม 1 โครงการย่านแฟชั่นไอซ์แลนด์ แต่ด้วยตลาดอสังหาฯ ที่กำลังซื้อบางกลุ่มยังไม่ฟื้นตัว บริษัทจึงต้องปรับแผนการพัฒนาให้สอดคล้องกับตลาด โดยเน้นบ้านแนวราบราคา 10 กว่าล้านบาท จะไม่เน้นเจาะตลาดลักชัวรี่มากนัก
         นายสมบูรณ์ วศินชัชวาล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 ค่อนข้างเหนื่อย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยเพื่อขายที่กำลังซื้อยังฝืดเคืองมาก ติดปัญหาอัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจ็กต์เรต) ที่ธนาคารเข้มการปล่อยสินเชื่อมาก ทำให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ของบริษัทค่อนข้างต่ำลงพอสมควรและเป็นปัญหาสำหรับบริษัท แต่ในส่วนของธุรกิจอสังหาฯเพื่อเช่าอย่างคลังสินค้าปีนี้ดีมาก มีอัตราการเช่าสูง ส่วนอาคารสำนักงานยังไปได้ดี แม้จะมีซัพพลายใหม่เข้ามาในตลาด ขณะที่โรงแรมตลาดก็กลับมาคึกคักตามภาคการท่องเที่ยว ทำให้มีอัตราเข้าพักดีมาก ดังนั้นสองธุรกิจหลักของบริษัท ทั้งอุตสาหกรรมและ คอมเมอร์เชียลปีนี้ถือว่าเป็นปีที่โดดเด่นมาก มีเพียงธุรกิจที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวลดลง โดยมีรายได้หายไปเกือบ 20% แต่โชคดีมีอุตสาหกรรมและคอมเมอร์เชียลมาช่วย จึงทำให้รายได้รวมของบริษัทยังคงดูดี

         นายสมบูรณ์กล่าวว่า สำหรับในปี 2568 วางแผนเปิดตัวใหม่ 7 โครงการ เป็นแนวราบ 6 โครงการและคอนโดมิเนียม 1 โครงการย่านแฟชั่นไอซ์แลนด์ แต่ด้วยตลาดอสังหาฯ ที่กำลังซื้อบางกลุ่มยังไม่ฟื้นตัว บริษัทจึงต้องปรับแผนการพัฒนาให้สอดคล้องกับตลาด โดยเน้นบ้านแนวราบราคา 10 กว่าล้านบาท จะไม่เน้นเจาะตลาดลักชัวรี่มากนัก เนื่องจากมองว่ายังเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้ออยู่และเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อยู่พอสมควร รวมถึงการแข่งขันในตลาดยังไม่รุนแรง

         ขณะเดียวกันจะปรับลดพอร์ตทาวน์โฮมราคาต่ำ 5 ล้านบาท เพราะยังมีปัญหากำลังซื้อที่ซื้อได้ยากขึ้น แต่สิ่งที่กำลังลุ้นกันอยู่ คือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับตัวลดลง หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจริง จะทำให้กำลังซื้อของคนกลุ่มนี้กลับมาและตลาดโดยรวมจะมีแรงกระตุ้นเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นจึงมองว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง.ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว ส่วนการผ่อนคลายมาตรการ LTV หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนให้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนค่าเงินบาทอยากให้ ธปท.ดูแลเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการนำเข้าและส่งออก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อน ต่อไปได้