จับตาแบงก์ทยอยลดดอกเบี้ย ธุรกิจเฮ 'ต้นทุนการเงิน' ลดลง
Loading

จับตาแบงก์ทยอยลดดอกเบี้ย ธุรกิจเฮ 'ต้นทุนการเงิน' ลดลง

วันที่ : 19 ตุลาคม 2567
นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า การลดดอกเบี้ย 0.25% ในครั้งนี้นับเป็นการส่งสัญญาณบวก ฟื้นความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอสังหาริมทรัพย์ได้ระดับหนึ่ง
     ตลาดเงินตลาดทุนเฮ สัญญาณดอกเบี้ยขาลง หลัง กนง.ลดดอกเบี้ย ครั้งแรกในรอบ 4 ปี เผยต้นทุนธุรกิจลดโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ตลาดหุ้นตอบรับดัชนีพุ่ง-เงินบาทคลายแรงกดดัน "ทิสโก้" เผยลดปมขัดแย้งนโยบายการเงิน-การคลัง นักลงทุนมั่นใจขึ้น จับตาแบงก์ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ ออมสินประกาศนำร่องหั่นดอกกู้ ดีเดย์ 1 พ.ย. กลุ่มอสังหาฯตีปีกลุยปลุกยอดปลายปี ขณะที่ทุกสำนักฟันธงปีนี้เห็นลดดอกเบี้ยครั้งเดียว

     ลดดอกเบี้ย-ลดแรงกดดัน

     ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% นั้น โดยจากคำแถลงจะเห็นได้ว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการปรับ "จุดยืนของนโยบายการเงิน" มากกว่าจะลดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเป็น "วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง" ที่จะต้องลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

    โดยประเมินว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของปี 2567 โดยในการประชุม กนง. เดือน ธ.ค. ไม่น่าจะลดแล้ว หากเศรษฐกิจไม่ได้แย่ไปกว่าปัจจุบัน หรืออัตราการเติบโตของสินเชื่อไม่ได้แย่ลงไปอีก หรือหนี้เสียไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ๆ หรือเงินบาทไม่ได้แข็งต่อ รวมถึงหากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ก็คาดว่า กนง.จะ Wait & See เพื่อรอดูสถานการณ์ไปก่อน แล้วจึงไปลดดอกเบี้ยต่อในปีหน้า

    "อีกประเด็นหนึ่ง ผมคิดว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ก็เป็นการลดแรงกดดันด้วย เพราะถ้าดูปัจจัยเรื่องดีมานด์ในประเทศ ทั้งสินเชื่อก็ชะลอจนติดลบ หนี้เสียเพิ่มขึ้น เงินบาทก็แข็งค่า ทุกอย่างชี้ไปที่การต้องลดดอกเบี้ยอยู่แล้ว แต่ปีนี้ก็คงไม่ลดแล้ว แล้วไปลดปีหน้าต่อ ช่วงกลางปี จนถึงครึ่งหลังของปี"

     ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง จนถึงไตรมาส 2 ปีหน้า เนื่องจากมี งบประมาณเตรียมไว้อยู่แล้ว ขณะที่จากนี้ไปแบงก์ต่าง ๆ น่าจะมีการลดดอกเบี้ยตาม โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้

     ออมสินนำร่องลดดอกกู้

    นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี เพื่อเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการลดภาระทางการเงินของประชาชน ธนาคารออมสิน จึงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ประกอบด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) ลดลงเหลือ 6.900% ต่อปี และดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลงเหลือ 6.745% ต่อปี

   ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) อยู่ที่อัตรา 6.595% ต่อปี และเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ย MRR ครั้งที่ 3 ของปีนี้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้าเงินกู้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มฐานราก และกลุ่ม SMEs ในการลดภาระต้นทุนทางการเงิน ให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยตรง ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายและมากขึ้น

    สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะยังคงตรึงดอกเบี้ยไว้ในอัตราเดิมให้ได้นานที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากอัตราดอกเบี้ยภายใต้ภารกิจเพื่อสังคมในการมุ่งส่งเสริมการออม

    แบงก์ทยอยลดตาม กนง.

   แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ ขนาดใหญ่เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คาดว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะทยอยประกาศปรับลดดอกเบี้ยลงตาม ๆ กัน ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ โดยการปรับลดดอกเบี้ยต้องพิจารณาว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) ในอัตราเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ฝากเงินด้วย ซึ่งอาจจะปรับลดในอัตรา 0.125% เพื่อรักษาสมดุลระหว่างผู้กู้และผู้ฝากเงิน

    กลุ่มลูกค้าที่ได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยคือ ลูกค้าเอสเอ็มอี และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่วนสินเชื่อรายย่อยประเภทบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล จะอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ที่ระดับ 16% และ 25% จะไม่มีผลต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้

     อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่อยู่อาศัยอาจไม่ได้รับประโยชน์ทั้งหมดเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีลูกค้าบางกลุ่มที่ยังอยู่ในสัญญาอัตราดอกเบี้ยคงที่ ทำให้ลูกค้าที่ได้ประโยชน์จะเป็นลูกค้าที่ผ่อนชำระสินเชื่อบ้านมาแล้วเกิน 3 ปี ดังนั้น กลุ่มสินเชื่อบ้านอาจได้รับประโยชน์เพียงครึ่งเดียว แต่กลุ่มเอสเอ็มอีจะได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้เต็ม ๆ มากกว่ากลุ่มอื่น

    ลดปมขัดแย้ง-นักลงทุนมั่นใจขึ้น

    นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยเป็นการผ่อนเรื่องแรงกดดันของแบงก์ชาติลง และทำให้ภาพการปะทะระหว่างคลังกับแบงก์ชาติลดลง ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะจาก นักลงทุนต่างชาติ และจะทำให้อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (PE) ของตลาดหุ้นน่าจะมีโอกาสปรับสูงขึ้นได้

    ประกอบกับโมเมนตัมเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ทั้งภาคท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวอยู่ และส่งออกที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ส่วนปัจจัยภายนอกยังไม่มีประเด็นอะไรที่น่าเป็นห่วงมากนัก ภาพเศรษฐกิจสหรัฐก็ยังไม่น่าห่วง อาจจะมีเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้ช่วงนี้ตลาดอาจรอดูความชัดเจน ทำให้ภาพตลาดหุ้นจะไม่หวือหวามากนัก แต่พอผลเลือกตั้งออกมาเรียบร้อยน่าจะปรับตัว ดีขึ้นกว่านี้อีกได้

    ปีนี้ ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ยแล้ว

    นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี แบงก์ชาติได้พูดชัดเจนว่ายังไม่ใช่ดอกเบี้ยขาลง ดังนั้น ประเมินการลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะผ่อนลงแค่ครั้งนี้ และไม่น่าจะลดดอกเบี้ยแล้วในปีนี้ เพื่อเก็บกระสุนไว้ลดดอกเบี้ยปีหน้าอีก 0.25% เผื่อมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง

    "แบงก์ชาติคงไม่อยากเห็นดอกเบี้ย ต่ำกว่า 2% ซึ่งคงขึ้นอยู่กับเงินเฟ้อจะ ขยับขึ้นมาอยู่ในกรอบได้หรือไม่ โดยตลาดหุ้นอาจจะตอบรับได้ไม่มาก หากจะได้ผลเชิงบวกมาก ๆ ต้องเป็นการลดดอกเบี้ยเหมือนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)"
สอดคล้องกับ นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ห้องค้ากสิกรไทยคาดการณ์ว่า กนง.มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมเดือน ธ.ค.นี้ และมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงไตรมาส 1 ของปีหน้า โดยการปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. ในรอบนี้เป็นเพียงการปรับฐานมากกว่าการเข้าสู่วงจรการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องแบบธนาคารกลางอื่น ทำให้คาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยในวงจรนี้จะอยู่ที่ 2%

    หุ้นเด้ง-ปรับเป้า SET ใหม่

    นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการ ผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของ กนง. ทุก ๆ 0.25% จะหนุนกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดปรับขึ้นราว 1.5% และหนุนดัชนี SET มีอัพไซด์ขยับขึ้นราว 20 จุด ในเบื้องต้นมีโอกาสจะปรับประมาณการ เป้าหมาย SET Index ปีนี้เพิ่มขึ้น จากที่วางไว้ 1,500 จุด และปีหน้าที่ 1,550 จุด อย่างไรก็ดี คงต้องดูผลของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังอีกประมาณ 1 ไตรมาส ขณะที่มองว่า มีโอกาส กนง. จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในช่วงปลายปีนี้

    นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ย ในรอบนี้ถือว่าค่อนข้างเซอร์ไพรส์ตลาด แต่ก็มองว่ามีความเหมาะสม เชื่อว่า จะสามารถบูสต์กำลังซื้อและการลงทุนเพิ่มขึ้นได้ และเป็นการชะลอการแข็งค่า ของเงินบาทในระยะสั้น ๆ เนื่องจากเวลาค่าเงินบาทแข็งค่าแรงจนเกินไป ประกอบกับมองอัตราเงินเฟ้อไทยน่าจะกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปีหน้าแล้วที่ 1-3% เพราะฉะนั้น อุปสรรค ต่อการลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้มี มากแล้ว

    อสังหาฯ-ไฟแนนซ์รับอานิสงส์

   โดย บล.กสิกรไทย ได้มีการปรับเป้าหมายดัชนี SET Index ในปี 2568 ขยับมาอยู่ที่ 1,600 จุด กลุ่มหุ้นที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากธีมอัตราดอกเบี้ยขาลง มองเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ไฟแนนซ์ แนะนำ MTC, TIDLOR 2.โรงไฟฟ้า แนะนำ GPSC และ 3.อสังหาริมทรัพย์ แนะนำ SIRI, ORI เพราะเป็นบริษัทที่มีหนี้สูง

    นายสรพลกล่าวอีกว่า ด้านธุรกิจกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และไฟแนนซ์จะได้ประโยชน์โดยตรง จากการลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ เพราะ 2 เซ็กเตอร์นี้ มีการพึ่งพิงเงินกู้จากสินเชื่อธนาคาร และการออกหุ้นกู้มากที่สุด โดยมีสัดส่วนการใช้เงินทุนผ่านการระดมทุนออกหุ้นกู้ประมาณ 40-60% เพราะฉะนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยทั้งฝั่งเงินกู้ธนาคาร ผ่านการลดลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ที่มีโอกาสลดลงมาประมาณ 12.5-25 bps และฝั่งต้นทุนการออกหุ้นกู้ในปี 2568 ช่วงเวลาที่ครบกำหนดไถ่ถอนก็จะถูกลงด้วยเช่นกันตามภาวะตลาด

   MTC ชี้ต้นทุนการเงินยังสูง

   นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)หรือ MTC กล่าวว่า ครั้งนี้ เป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 4 ปี มองว่าเป็นการส่งสัญญาณว่า ต้นทุนการเงินหรือต้นทุนดอกเบี้ยมีทิศทางปรับลดลงในระยะข้างหน้า แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการส่งผ่านอย่างน้อย 1-2 ไตรมาส ถึงจะเริ่มเห็นต้นทุนการเงิน ปรับลดลง

    "การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ช่วยลดภาระหนี้ ส่วนต่าง ๆ ได้ แต่คงไม่ได้ลดทันที เพราะไม่ได้การันตีว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ยลง ต่อเนื่อง และอาจไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจมากนัก เพราะเศรษฐกิจดีจะขึ้นกับหลายปัจจัย ดังนั้น ต้องรอติดตามมาตรการภาครัฐอื่น ๆ เข้ามาด้วย เพราะหนี้จะลดได้ ส่วนหนึ่งจะต้องมีรายได้เพิ่มด้วย ไม่ใช่แค่ลดดอกเบี้ย"

    อย่างไรก็ดี ในส่วนของบริษัท MTC หรือในกลุ่มอุตสาหกรรมจำนำทะเบียนรถ ยังคงมีความท้าทายในเรื่องของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ยังทยอยปรับเพิ่มขึ้น และต้นทุนทางการเงิน ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าดอกเบี้ยจะปรับลดลง 0.25% ต่อปี โดยคาดว่าปีนี้ ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ที่ราว 4.20% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 3.76% และเอ็นพีแอล ปัจจุบันอยู่ที่ 2.88% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ที่อยู่ 1.50% และคาดว่า บริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันน่าจะอยู่ในทิศทางเดียวกัน

   เอกชนขานรับลดดอกเบี้ย

   นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25 % เหลือ 2.25% นั้น หอการค้าไทยมองว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน เชื่อว่าจะกระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่ให้ แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ส่งออก และภาคท่องเที่ยวแข่งขันได้ดีขึ้น และดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในภาระต้นทุนที่ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และประชาชนต้องแบกรับ

    ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้นโดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศว่า นโยบายทางการเงิน และนโยบายทาง การคลังของประเทศไทย สอดคล้องไปในทางเดียวกัน

    นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ด้านอนุรักษ์พลังงาน และ Grid Modernization สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ หลังจากคงอัตรา 2.50% มาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะช่วยให้ผลตอบแทนจากการลงทุน กลับมาดีขึ้น และต้นทุนการเงินถูกลง อย่างไรก็ตาม อยากให้ลดอีก 0.25% ให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 2.00% ต่อปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นในการลงทุนโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น

    อสังหาฯขอก๊อก 2 ปลดล็อก LTV

    นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า การลดดอกเบี้ย 0.25% ในครั้งนี้นับเป็นการส่งสัญญาณบวก ฟื้นความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอสังหาริมทรัพย์ได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังติดอุปสรรคข้อใหญ่ในเรื่องการบังคับใช้ LTV (มาตรการบังคับเงินดาวน์แพงในการขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป) ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับอานิสงส์เต็มที่ จึงเสนอขอให้แบงก์ชาติเร่งพิจารณาผ่อนปรนการบังคับใช้ LTV ออกไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อสร้างโอกาสให้การซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมหลังที่ 2 สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มมากขึ้น เพราะการซื้อหลังที่ 2 ในยุคนี้เป็นการซื้อตามความจำเป็นที่เกิดขึ้นจริง เช่น ซื้อคอนโดฯใกล้โรงเรียนลูก หรือใกล้ที่ทำงาน สำหรับคนทำงานข้ามจังหวัด การซื้อหลังที่ 2 เพื่อทดแทนการเช่า เป็นต้น

    ด้าน นายถิรชนม์ ธเนศเดชสุนทร ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 46 ระหว่าง 31 ต.ค.-3 พ.ย. 67 กล่าวว่า กนง.ลดดอกเบี้ย ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคทันที และเป็นผลดีต่อการจัดงานมหกรรมบ้านฯ ซึ่งถือว่าถูกที่ ถูกจังหวะเวลา เพราะมีดีเวลอปเปอร์นำเสนอมากกว่า 1,000 โครงการมีให้เลือกทุกโจทย์ความต้องการ ของผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ คอนโดฯ