หุ้นกู้อสังหาฯ ระส่ำหนัก จ่อครบดีลอีก2.6หมื่นล.
Loading

หุ้นกู้อสังหาฯ ระส่ำหนัก จ่อครบดีลอีก2.6หมื่นล.

วันที่ : 12 มิถุนายน 2567
ศุภาลัย กล่าวถึง ภาพรวมอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในช่วง6 เดือนแรกของปี 2567 ว่า มองว่า ทั้งในส่วนของกำลังซื้อและยอดขาย (Presale) ยังดูทรงๆ ตัว ไม่ได้หวือหวา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศไทยเองต้องยอมรับว่ายังไม่ได้ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็น
   กำลังซื้อฟื้น ครึ่งหลัง

   หุ้นกู้อสังหาฯระส่ำ หลังบมจ.อนันดา เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 5 รุ่น 11,318 ล้านบาท พบครึ่งปีหลังมีหุ้นกู้ไฮยิลด์บอนด์ครบชำระอีก 26,046.46 ล้านบาท ตลาดจับสัญญาณ หุ้นกู้เสี่ยงสูงขึ้นครึ่งปีหลัง นักลงทุนเน้นคุณภาพ แม้ผลตอบแทนต่ำกว่า แต่เชื่อมั่นบริษัทขนาดใหญ่ห่างไกลผิดนัดหนี้

   ตลาดหุ้นกู้ถูกพูดถึงอีกครั้งหลังบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ ANAN เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 5 รุ่นวงเงินรวม 11,318 ล้านบาท ในวันที่ 27 มิถุนายน 2567 โดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ประกาศขึ้นเครื่องหมาย Request Information(RI) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา แจ้งเตือนผู้ลงทุน และขอให้ ANAN ชี้แจงหรือรายงานข้อมูลต่อ ThaiBMA

    อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลหุ้นกู้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่จะครบกำหนดชำระหนี้ในช่วงครึ่งปีหลังพบว่า มีหุ้นกู้ไฮยิลด์บอนด์ คือ หุ้นกู้ดอกเบี้ยสูง เป็นหุ้นกู้ที่ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ต่ำกว่า Investment Grade) หรือต่ำกว่า BBB จะครบกำหนดชำระรวม 26,046.46 ล้านบาท

     นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่าประเด็นหุ้นกู้มีการพูดถึงตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากมีผู้ประกอบการ2-3 รายไปต่อไม่ไหว รวมไปถึง ANAN ที่เป็นประเด็นล่าสุด ที่มีการแจ้งปิดสมุดทะเบียนและปัญหา ส่วนบริษัทอื่นๆที่ได้ออกหุ้นกู้ใหม่ๆ มา รวมถึงผู้ประกอบการรายอื่นที่จะครบนัดชำระหลายรายไปจนถึงปลายปีนี้ คงต้องรอลุ้นว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะยอดขายอสังหาฯไม่ดีนัก แต่หากบริษัทมีเงินสะสมมากสามารถหมุนเงินจากส่วนอื่นหรือออกหุ้นกู้อื่นมาจ่าย ก็จะยังพอไปต่อได้

    ด้าน นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในช่วง6 เดือนแรกของปี 2567 ว่า มองว่า ทั้งในส่วนของกำลังซื้อและยอดขาย (Presale) ยังดูทรงๆ ตัว ไม่ได้หวือหวา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศไทยเองต้องยอมรับว่ายังไม่ได้ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็น ประกอบกับในช่วงครึ่งแรกของปีมีวันหยุดเทศกาลหลายวัน ทั้งปีใหม่ ตรุษจีน และสงกรานต์ ทำให้ยอดขายทำได้ไม่เต็มที่นัก

    ประกอบกับด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หนี้ครัวเรือนทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้ยอดขายที่ทำได้มีโอกาสเป็นยอดโอนลดน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งลูกค้าของ SPALI มากกว่า 15% มีความต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะได้รับการอนุมัติ ซึ่งตามความจริงแล้วธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่บริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพกันได้เอง สามารถ trade-off ความเสี่ยงเองได้อยู่แล้ว จากการควบคุมที่เข้มข้นมากๆ ของ ธปท. ก็ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทำตัวลำบากตามไปด้วย

   ทั้งนี้ คาดว่าภาพรวมกำลังซื้อในช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมามีการเติบโตที่ดีขึ้นได้กว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐทำได้ดีมากขึ้นหลังจากที่มีความล่าช้าไปในปีก่อน รวมถึงการเดินหน้าลงทุนโครงการใหม่ๆ ของภาครัฐ เชื่อว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เพิ่ม ทำให้มองว่าความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะดีขึ้นตามไปด้วย

   แหล่งข่าวจากตลาดเงินตลาดทุนให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ปีนี้ไม่น่าจะต่างจากช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา กล่าวคือ กลุ่ม Investment grade ยังขยายตัวได้ดีขณะที่กลุ่ม high yield หดตัว ซึ่งก็สอดคล้องกับภาพของสินเชื่อในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่สินเชื่อรายใหญ่ยังขยายตัวได้ ขณะที่สินเชื่อขนาดกลางลงมาหดตัวลง

   ทั้งนี้จากข้อมูลจาก ThaiBMA พบว่า ตัวเลขยอดคงค้างหุ้นกู้ทั้งหมด ณวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ทั้งสิ้น 4.3 ล้านล้านบาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากสิ้นปี 2566 แต่ยอดคงค้างกลุ่ม high yield (ต่ำกว่า BBB- รวมทั้ง non-rated) มียอดคงค้างจำนวน 1.93 แสนล้านบาท ปรับลดจากสิ้นปี 2023 ทั้งสิ้น 2.55 แสนล้านบาท หรือลดลงถึง 24% โดยมีรายละเอียดดังนี้

   1.กลุ่ม Investment grade ยังจะได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคลธรรมดา รวมทั้งข่าวเชิงลบในกลุ่ม high yield แม้ในปีนี้จะมีน้อยลงกว่าในปีที่ผ่านมา แต่นักลงทุนยังมีความระมัดระวัง รวมถึงความอ่อนแอของตลาดหุ้น น่าจะทำให้นักลงทุนหันไปหาหุ้นกู้มีคุณภาพ แม้จะให้ผลตอบแทนน้อยลงกว่ากลุ่ม high yield อยู่บ้าง

   2.กลุ่ม High yield หลังจากมีข่าวคราวเชิงลบต่อเนื่องหลายไตรมาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นธรรมาภิบาลทำให้ยอดคงค้างลดลงชัดเจน แต่บริษัทที่ประกอบธุรกิจตามปกติ เห็นสัญญานลดการพึ่งพาหนี้สินในหลายบริษัท ซึ่งชี้ให้เห็นว่า บริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ ปรับแผนเงินทุน มีความระมัดระวังมากขึ้นในการขยายธุรกิจรวมไปถึงการก่อหนี้ ซึ่งถือเป็นสัญญานที่ดีสำหรับผู้ถือหุ้นกู้ แสดงถึงธรรมาภิบาลที่ดีของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้

    ซึ่งแม้จะปรับแผนการทำธุรกิจแล้ว การออกหุ้นกู้ก็ยังยาก แต่จะมีส่วนสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มสถาบันการเงิน เพื่อขอสนับสนุนสินเชื่อต่อไปได้ คนในกลุ่ม high yield ที่ยังออกหุ้นกู้ได้ จะต้องมีชื่อเสียงดีจริงๆ อยู่ในธุรกิจยาวนานพอสมควร มีผลประกอบการทรงตัวต่อเนื่อง ไม่งั้นก็จะออกหุ้นกู้ได้ในปริมาณน้อยลง หรือทยอยหายไปจากตลาดหุ้นกู้เลย ซึ่งต้องไปหาแหล่งเงินทุนอื่นแทน

    3.ประเด็นคุณภาพ credit ถือว่า อ่อนแอลงทั้งระบบ โดยครึ่งแรกของปีนี้ มีการ downgrade มากขึ้นไม่เว้นแม้กระทั่งบริษัทขนาดใหญ่ เช่น CPF, BTS, STA, CKP, IRPC อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบุคคลธรรมดายังไม่ได้ตระหนกมาก เพราะแม้บริษัทขนาดใหญ่จะถูก downgrade แต่ก็เชื่อว่า ยังห่างไกลจาก default risk ขณะที่นักลงทุนสถาบันจะเลือกมากขึ้น หรือต้องการอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่ก็สูงขึ้นเช่นกัน

    4.การที่แบงก์ชาติส่งสัญญานไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ระดับอัตราผลตอบแทนทั้งตราสารหนี้ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และเมื่อเทียบกับทางเลือกอย่างเงินฝากธนาคาร (ที่ก็ไม่ปรับลดลงเช่นกัน) ตราสารหนี้ก็ยังคงให้อัตราผลตอบแทนที่ดี ทดแทนเงินฝากได้ โดยนักลงทุนยังคงระมัดระวังในการเลือก สภาพคล่องส่วนใหญ่อาจยอมเลือกกลุ่ม Investment grade บริษัทขนาดใหญ่ มีชื่อเสียง แม้จะให้อัตราผลตอบแทนต่ำกว่ากลุ่ม High yield

   ก่อนหน้า นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ชี้แจงว่า อนันดาฯ ได้เตรียมเงินชำระหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนกรกฎาคมเต็มจำนวน หรือ หุ้นกู้ ANAN247A มูลค่า 3,231.20 ล้านบาทครบกำหนดไถ่ถอน 14 กรกฎาคม 2567 หลังจากชำระไปก่อนหน้านี้ วันที่ 15 มกราคม2567 มูลค่า 3,826 ล้านบาท หรือไตรมาสแรกที่ผ่านมา

    ย้อนไปก่อนหน้านี้เมื่อ เมื่อวันที่15 มกราคม 2567 นายชานนท์ เรืองกฤตยาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN ระบุว่า บริษัทได้ดำเนินการชำระหุ้นกู้คืนตามกำหนด 100% ให้กับนักลงทุนในวันที่ 15 มกราคม 2567 มูลค่า 3,826 ล้านบาทและพร้อมชำระคืนหุ้นกู้รอบถัดไปตามกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2567 มูลค่า 3,231 ล้านบาท และพร้อมชำระคืนหุ้นกู้รอบถัดไปตามกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2567 มูลค่า 3,231 ล้านบาท

    สำหรับหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น มีมูลค่าคงค้างรวมกันประมาณ 11,318 ล้านบาทประกอบด้วย หุ้นกู้ ANAN247A มูลค่า 3,231.20 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 14 ก.ค. 2567

    หุ้นกู้ ANAN251A มูลค่า 1,811.70 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 15 ม.ค. 2568

    หุ้นกู้ ANAN251B มูลค่า 1,176.60 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 15 ม.ค. 2568

    หุ้นกู้ ANAN256A มูลค่า 2,275.80 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 9 ก.ค. 2568

    หุ้นกู้ ANAN261A มูลค่า 2,823.40 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 15 ม.ค. 2569

    "อนันดาฯ มีสินค้าพร้อมโอนจำนวน 4 หมื่นล้านบาท ทั้งคอนโดฯและบ้านแนวราบเปรียบเสมือนตู้เอทีเอ็มของอนันดาฯที่ สามารถนำมาขายและนำไปชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยในจำนวนนี้ ก่อสร้างแล้วพร้อมโอน 28,000 ล้านบาทอยู่ระหว่างก่อสร้าง 12,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 ที่สามารถนำมาสำรองจ่ายคืนหุ้นกู้ส่วนที่เหลือ ครอบคลุมทั้ง 5 รุ่น 11,318 ล้านบาท"
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ