คอลัมน์ จับกระแส: ยอดปฏิเสธสินเชื่อสู่...วิบากกรรมลูกหนี้-อสังหาฯ
Loading

คอลัมน์ จับกระแส: ยอดปฏิเสธสินเชื่อสู่...วิบากกรรมลูกหนี้-อสังหาฯ

วันที่ : 5 มิถุนายน 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยผลการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศและสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ขยายตัวลดลง 13.8% และ 20.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี
         วิชชุลดา ภักดีสุวรรณ

         โดยการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงทุกระดับราคา โดยกลุ่มราคา 5-7.5 ล้านบาท ลดลงสูงสุด 20% ระดับราคา 1.5-2 ล้านบาท ลดลง 19.8% ราคา 3-5 ล้านบาท ลดลง 18.2% ราคา 2-3 ล้านบาท ลดลง 18% เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และที่ลดมากสุดคือที่อยู่อาศัยแนวราบกลุ่มราคา 1.5- 2 ล้านบาท ลดลงมากสุด 30.2%

         ไม่แปลกที่ระยะนี้ได้ยินกันบ่อยๆ กับข่าวการ "ปฏิเสธสินเชื่อ" ของภาคธนาคาร (แบงก์) อย่างสินเชื่อบ้าน ที่ภาคธนาคารออกมาบอกว่ามี ยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบ้านระดับต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่พบว่ามียอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งขึ้น 60-70% หากเทียบกับระดับปกติที่ยอดปฏิเสธสินเชื่อต่ำกว่า 50% และกลุ่มที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อมักเป็นกลุ่มเปราะบาง รายได้น้อย หรืออาชีพอิสระที่มักเจอปัญหามากขึ้น

         เมื่อยอดปฏิเสธสินเชื่อปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน "สินเชื่อ" ที่เป็นรายได้หลัก ของแบงก์ปีนี้ก็อาจถูกบั่นทอน หรือเติบโตลดลง ทำให้หลายแบงก์ออกมาประกาศว่าการเติบโตปีนี้จะอยู่ในระดับ conservative หรือเน้นประคองให้การเติบโตเท่าเดิม หรือโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะการเติบโตสินเชื่อ ในยามที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว อาจทำให้แบงก์เข้าสู่ภาวะยากลำบากได้ หากยังเร่ง ปล่อยสินเชื่อ บนคุณภาพหนี้ที่ด้อยลงของลูกหนี้

         ไม่เฉพาะแบงก์ที่ปรับตัว หันมาประคองตัวในการเติบโตมากขึ้น และหันไปเติบโตจากรายได้อื่นๆ มากขึ้น เพื่อชดเชยผลกระทบจากยอดสินเชื่อที่ลดลง เช่นการมุ่งไปสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม หรือรายได้จากธุรกิจมั่งคั่ง ธุรกิจการลงทุนแทน

         ภาคอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน จากการที่แบงก์ลดการปล่อยกู้ลง ทำให้การขายสินทรัพย์ ที่อยู่อาศัย บ้านต่างๆ ขายยากขึ้น ทำให้หลายบริษัทอสังหาฯ ออกมาประกาศปรับตัว โดยการให้ลูกหนี้ที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อหันมาผ่อนดาวน์ หรือผ่อนชำระค่างวดกับ "ผู้ประกอบการโดยตรง" เพื่อแก้เกมอสังหาขายไม่ออก

         ส่งผลให้ยอดการผ่อนตรงกับผู้ประกอบการ หรือเอเอ็มซีเริ่มสูงขึ้น ตามความเปราะของลูกหนี้ที่ด้อยลง หรือบางรายยอมผ่อนกำลังแบงก์ หรือ เอเอ็มซี บนดอกเบี้ยรายย่อย MRR ซึ่งเรตดอกเบี้ยถือว่าสูงกว่าปกติเฉลี่ยแล้ว 5-6% หากเทียบกับโปรโมชันของแบงก์ ที่มักมีโปรโมชันในช่วง 3 ปีแรก ที่อยู่เพียง 3-4%ต้นๆ เท่านั้น

         แต่การหันมาผ่อนตรงกับผู้ประกอบการอสังหาฯ ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยง เพราะหากลูกหนี้ยังไม่สามารถผ่อนตรงกับผู้ประกอบการ ก็มีโอกาสสูญเงินผ่อนไปฟรีๆ โดยไม่ได้บ้าน เพราะเท่ากับผิดสัญญาเพราะ ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด สินทรัพย์ก็ตกเป็นของเจ้าของผู้ประกอบการทันที ก็เท่ากับว่าเสียค่าผ่อนไปฟรีๆ แม้ยังไม่ทันได้เข้าอยู่ก็ตาม ดังนั้น การซื้อบ้านสักหลังแม้จะมีทางออกที่ง่ายขึ้น เอื้อให้สามารถเข้าถึงบ้านได้ แต่ลูกหนี้ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่ตามมาเช่นเดียวกัน

         ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับลูกหนี้ แต่ยังลามมาถึงแบงก์ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ด้วย ที่ต้องเผชิญวิบากกรรมต่อไป แต่หลังจากนี้ ที่น่าจับตา คือผลกระทบจะลามเป็นโดมิโนไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อีกหรือไม่ เพราะผลกระทบที่เริ่มจากแบงก์ จากหนี้เสียที่มากขึ้น อาจลามกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้อย่างไม่จบสิ้น...

         ไม่เฉพาะแบงก์ที่ปรับตัว หันมาประคองตัวในการเติบโตมากขึ้น และหันไปเติบโตจากรายได้อื่นๆ มากขึ้น เพื่อชดเชยผลกระทบจากยอดสินเชื่อที่ลดลง เช่นการมุ่งไปสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม หรือรายได้จากธุรกิจมั่งคั่งแทน
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ