อสังหาไร้สัญญาณฟื้น นายกฯสั่งปรับแผนสู้ 'เอสเอ็มอี'เสนอ5ข้อ ดันฮับ'BRICS-Thai'
Loading

อสังหาไร้สัญญาณฟื้น นายกฯสั่งปรับแผนสู้ 'เอสเอ็มอี' เสนอ5ข้อ ดันฮับ 'BRICS-Thai'

วันที่ : 2 มิถุนายน 2567
นายกฯ โพสต์เร่งหามาตรการช่วยอสังหาฯ ภาคธุรกิจมองยังไร้สัญญาณ ศก.ฟื้น เอสเอ็มอีเสนอ 5 ข้อกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งเพิ่มทักษะแรงงาน 5 ล้านคน/ปี
             
         นายกเร่งหามาตรการช่วยอสังหาฯ

         เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นเอ็กซ์ ภายหลังที่กลุ่มสมาคมอสังหาริมทรัพย์เข้าพบและหารือ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อย่างเท่าเทียม ระบุข้อความว่า "เศรษฐกิจประเทศเราในห้วงนี้ ยังไม่ขยับตัวเติบโตมากนัก ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาเรามีการประชุม และผลักดันมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ไปเบื้องต้นแล้วบางส่วน วันนี้กลุ่มสมาคมอสังหาริมทรัพย์จึงได้เข้ามาหารือ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการผลักดันมาตรการอื่นๆ ที่ยังเหลืออยู่ เช่น มาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ มาตรการความช่วยเหลือด้านสินเชื่อของธนาคารรัฐ เป็นต้น ดังนั้นหลังประชุมผมได้ประสานให้ทางสมาคมฯ พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำแผนที่เป็น รูปธรรมมาเสนอ"

         'อิสระ' มองไร้สัญญาณศก.ฟื้น

         นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 สถานการณ์ยังไม่ดีจริงๆ รัฐบาลก็พยายามบูสต์แต่ก็ช้า รวมถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลคาดหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแรง ยังไม่ส่งผลมากนัก ด้วยภาวะเศรษฐกิจและตลาดที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ธนาคารยังเข้มงวดการปล่อยกู้ ไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังรวมถึงธุรกิจทั่วไปด้วย เนื่องจากกลัวเกิดหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลเพิ่ม ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลือถึงปลายปีนี้ จึงพึ่งการลงทุนจากงบประมาณภาครัฐและการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโต

         "เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ขยายเวลาวีซ่าฟรีให้กับ 93 ประเทศ ให้สามารถพำนักในประเทศไทยได้ยาวถึง 60 วัน เพราะเป็นมาตรการที่ได้เร็ว สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ เมื่อหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขต่างๆ ผ่อนคลาย จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น" นายอิสระกล่าว

         หวังเครดิตบูโรเหลือ1ปี

         นายอิสระกล่าวว่า นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับแนวคิดของ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะแก้เกณฑ์ลดระยะเวลาการเก็บประวัติการชำระหนี้ที่เครดิตบูโรกำหนดไว้ 3 ปี เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีการผ่อนชำระและเป็นหนี้ดีแล้ว สามารถไปยื่นขอกู้สินเชื่อก้อนใหม่เพื่อมาดำเนินการธุรกิจต่อได้ หรือไปขอกู้ซื้อทรัพย์สินอื่นๆ ได้ เช่น ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

         นายอิสระกล่าวว่า โดยมองว่าควรลดเวลาจาก 3 ปี เหลือ 1 ปี และอาจจะทดลองเป็นการชั่วคราวดู ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในทันที เนื่องจากเป็นการหลักเกณฑ์เพิ่มเติม แต่ถ้าหากออกมาแล้วไม่ส่งผลดี เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น ก็สามารถกลับไปใช้เกณฑ์เดิมได้ ถ้ารัฐผลักดันมาตรการนี้ออกมาได้ จะส่งผลดีต่อทุกประเภทธุรกิจทั้งเอสเอ็มอี อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ และยังเห็นด้วยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะฟื้นนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สำหรับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะจะจูงใจให้คนนำเงินออกมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ และเข้ามาตลาดทุนมากขึ้น

         นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยกับกรณีที่นายพิชัย มีแนวคิดจะลดระยะเวลาการเก็บประวัติเครดิตบูโรลง เนื่องจากจะช่วยคนที่มีภาระการเงินล้มละลายติดเครดิตอยู่ และเคยเป็นหนี้เสียมาก่อน แต่เมื่อสามารถชำระหนี้ไปได้จนกลายเป็นหนี้ดี จะทำให้สามารถไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้และเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย ซึ่งมาตรการนี้หากออกมาได้ จะส่งผลดีต่อทุกคน ไม่ใช่เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ยังรวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีและรถยนต์ด้วย

         เอสเอ็มอีเปิดทางรอดธุรกิจ

         นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2567 ให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2.5% และตั้งเป้าจะดันจีดีพีให้ถึง 3% นั้น วิธีการหรือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่แค่ภาครัฐเท่านั้น ต้องร่วมมือกันของภาคเอกชนด้วย ในการทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวเต็มศักยภาพช่วยดันเป้าจีดีพีที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่าจะทำตัวเลขไม่น้อยกว่า 2.5% ภายในปี 2567 นี้ ล่าสุดจีดีพีโตแค่เพียง 1.5% ต่ำที่สุดในอาเซียน ทั้งที่ ภาครัฐมีการเร่งจ่ายงบปี 2567 ออกมาแล้ว และยังจะมีงบปี 2568 จ่อออกมาอีก รวมทั้งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นต้น พร้อมกับพิจารณาข้อมูลของสภาพัฒน์ที่แถลงการณ์คาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2567 จะขยายตัว 2-3% และเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวเพียง 1.5% ลดลงจากไตรมาส 4 ปีก่อน ที่ขยายตัว 1.7% ซึ่งต่ำสุดในอาเซียน การลงทุนรวมลดลง 4.2% ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีก่อนที่ลดลง 0.4% การส่งออกไตรมาสแรกปีนี้ 69,592 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1% การท่องเที่ยวไตรมาสแรก มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12,127,447 คน คิดเป็น 35.3% จากเป้าหมายทั้งปี 2567 ที่คาดการณ์ระดับ 34.4 ล้านคน ภาคการเกษตร ป่าไม้ ประมง ลดลง 3.5% ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีก่อนที่ลดลง 0.6% ภาคการค้าส่งและค้าปลีก เพิ่มขึ้น 4.3%

         "ขณะที่เอสเอ็มอีมีความต้องการให้ภาครัฐเข้าช่วยดูแลด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่าย การเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี การลดภาระหนี้สินและการเข้าถึงแหล่งทุนรวมทั้งลดดอกเบี้ย การพัฒนาทักษะแรงงานและเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันเอสเอ็มอีไทยกับธุรกิจข้ามชาติ การเร่งใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และวางแผนงบประมาณภาครัฐปี 2568 แบบมุ่งเป้าเศรษฐกิจฐานราก เน้นการพัฒนากำลังคนและขยายตลาดรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ" นายแสงชัยกล่าว

         5ข้อเสนอกระตุ้นเศรษฐกิจ

         นายแสงชัยกล่าวต่อว่า ดังนั้น สมาคมและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงเสนอข้อคิดเห็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจสีขาว คือ สร้างกลไกระบบนิเวศทางเศรษฐกิจในระบบโดยมีมาตรการสิทธิประโยชน์ สร้างแรงจูงใจแรงงานนอกระบบที่มีราวร้อยละ 50% ของแรงงานทั้งหมดเข้าระบบ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สาขาอาชีพต่างๆ ราว 31% ที่ไม่ได้จดทะเบียนปรับเปลี่ยนเข้าระบบเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการขออนุญาตต่างๆ ที่ต้องไม่มีค่าใช้จ่ายนอกระบบ ซึ่งการมุ่งสร้างธรรมาภิบาล ส่งเสริมระบบตรวจสอบภาคประชาชนเพื่อป้องกันและติดตามเฝ้าระวัง และการบังคับใช้กฎหมายMC, KS 03/06/67 ปราบปรามการทุจริตที่เข้มงวดให้ความยุติธรรม

         ส่งเสริม 'ซอฟต์พาวเวอร์' จริงจัง

         2.เศรษฐกิจพอเพียง คือ ใช้ความรู้ควบคู่คุณธรรม พอเพียง พอประมาณ มีเหตุผลและภุมิคุ้มกันที่ดี ที่คำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม (ESGC) นำไปสู่ความยั่งยืนของเอสเอ็มอี โดยการสร้างกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนที่ต้องดำเนินการร่วมมือทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาคการศึกษาทุกระดับ และกระทรวงการคลังควรร่วมกับ อปท. และราชการในระดับส่วนภูมิภาค สถาบันการเงินพาณิชย์และรัฐ รวมทั้ง บสย. ในการยกระดับทักษะการบริหารการจัดการทางการเงินที่ถูกต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตปัจจุบันควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แก้ไขหนี้สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้กับประชาชนทุกครอบครัว ขณะเดียวกันต้องมีระบบส่งต่อความต้องการพัฒนาทักษะในระดับต่างๆ เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งอาจนำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของรัฐบาลเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง รวดเร็วเพื่อสร้างรายได้เพิ่มในแต่ละครัวเรือนและเอสเอ็มอี

         เร่งทักษะแรงงาน5ล้านคน/ปี

         3.เศรษฐกิจภูมิปัญญา คือ สร้างกลไกเพิ่มศักยภาพ และส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี และแรงงาน เพื่อเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้า บริการ ความเป็นผู้ประกอบการและได้รับการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงนวัตกรรม มาตรฐานต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ การขอใบอนุญาตต่างๆ ที่สะดวกรวดเร็ว รวมทั้งการเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐานแรงงานที่ต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงมาตรการต่างๆ ที่ดีของภาครัฐในการพัฒนากำลังคนตามความต้องการ ซึ่งในแต่ละปีมีกำลังคนวัยแรงงานที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถเฉลี่ย 5 ล้านคนต่อปี การจัดงบประมาณมุ่งเป้าสร้างความตระหนักรู้การเรียนรู้แบบต่อเนื่องตลอดชีวิต ในทุกช่วงวัย 4.เศรษฐกิจลดเหลื่อมล้ำ คือ สร้างกลไกการบริหารจัดการควบคุมต้นทุน ค่าครองชีพ ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต ขนส่ง ความเป็นธรรมทางพลังงานน้ำมัน ไฟฟ้า และดอกเบี้ย (ความเสี่ยง) ที่สถาบันการเงินทั้งในและนอกการกำกับ เพื่อความเป็นธรรมให้ประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แรงงานที่ต้องแบกรับภาระเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่รายได้ไม่ฟื้นตัว กำลังซื้อลดลง และหารายได้ไม่ทันรายจ่ายโดยเฉพาะเอสเอ็มอีรายย่อย และแรงงาน

         หนุนไทยฮับ'BRICS-Thai'

         5.เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ คือ มุ่งขยายตลาดกลุ่ม BRICS ที่มีบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับ เอมิเรสต์ อียิปต์ เอธิโอเปีย ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และอำนาจการซื้อจากขนาดเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และประเทศไทยสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการให้เพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุน การพัฒนาแหล่งทุนไม่ นวัตกรรมทางการเงิน การพัฒนานวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา BRICS เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทยที่มีทั้งนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย อินเดียติดอันดับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนสูงสุด ปัจจุบัน BRICS ยังมีสัดส่วนการค้ากับไทยราวร้อยละ 23% ของการค้าไทยทั้งหมด ขนาดเศรษฐกิจ จีดีพี รวมในกลุ่มนี้สูงถึง 29.53 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนั้น BRICS ยังครอบคลุมประชากรรวมถึงราว 3.5 พันล้านคน หรือราว 45% ของประชากรโลก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และยังมีสัดส่วนของการผลิตน้ำมันถึง 44% ของการผลิตน้ำมันป้อนตลาดโลกอีกด้วย หากมองถึงโอกาสผลผลิตทางการเกษตรของไทย สินค้าและบริการของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยที่จะไปขยายตลาดภาคการส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น และความร่วมมือทางด้านพลังงานที่จะทำให้ต้นทุนต่ำลง และมีเสถียรภาพความมั่นคงพลังงานมากขึ้น การส่งเสริมการลงทุนทั้ง FDI การตกลงความร่วมมือทางการค้า FTA ที่ขยายโอกาสทางธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยที่จะไปเติบโตในกลุ่ม BRICS มากขึ้น รวมทั้งรักษาสมดุลสร้างสัมพันธภาพที่ดีของขั้วมหาอำนาจโลก และให้ไทยเป็นศูนย์กลาง "BRICS-Thai" ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรมอาหาร สินค้าเกษตรผักผลไม้ GI ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและศิลปวัฒนธรรม การแพทย์มูลค่าเพิ่ม สมุนไพรไทยแปรรูป แฟชั่นสร้างสรรค์ไทย เป็นต้น

         "สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคาดหวังจากรัฐบาลในการส่งเสริม สนับสนุน สร้างการมีส่วนร่วมและมีเป้าหมายตัวชี้วัดชัดเจนคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านและพัฒนากำลังคนที่สมรรถนะสูงทั้งผลิตภาพแรงงานและผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม ความสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนธุรกิจแบบคู่ขนาน รัฐต้องวางแผนทั้งระบบสั้น กลาง และยาว อย่างนี้แล้ว ไม่แค่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.5% จะเกิน 3% ไปอย่างมั่นคง" นายแสงชัยกล่าว 
         
         หอค้าจี้สางปัญหาหนี้พุ่ง

         นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในปัจจุบันปัญหาหนี้สินของประชาชนและภาคธุรกิจ แม้แต่หนี้ในระบบ ก็ถือว่าเป็นตัวที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะนอกจากอัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนสูง ยังมีเรื่องสำคัญ คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบ ที่จะนำเข้ามาอยู่ในระบบ หรือแม้แต่หนี้ในระบบอยู่แล้ว ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการขยายวงเงินกู้เพิ่มเติมอีก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดมากในการอนุมัติเงินกู้ใหม่และขยายวงเงินเพิ่มเติม โดยเฉพาะในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ขาดสภาพคล่องอยู่แล้ว เมื่อไม่ได้รับการเติมสภาพคล่องจากแหล่งเงินทุน ก็เดินต่อไปได้ยาก รัฐบาลต้องวางแนวทางช่วยเหลืออย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

         ชงเปิดเวทีถกรัฐ-เอกชน

          นายวิศิษฐ์กล่าวว่า เพื่อให้ปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ถูกแก้ไขได้อย่างแท้จริง ภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการพร้อมให้ข้อมูลอยู่แล้วว่า ธุรกิจติดขัดในเงื่อนไขใด ทำไมถึงยังเดินหน้าต่อไม่ได้ เข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ กู้ไม่ผ่านด้วยเหตุผลอะไร จะไปต่อได้อย่างไรภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ แต่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นในทุกด้าน ทำให้เราต้องประคองธุรกิจผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ก่อน เพราะหลังโควิดธุรกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดี แต่ก็มาเจอความขัดแย้งในโลก การแก้ปัญหาเงินเฟ้อผ่านการขึ้นดอกเบี้ยของประเทศใหญ่ๆ ในโลก ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคตกหมด ตอนนี้ทุกคนก็พยายามซื้อของถูก คนขายต้องพยายามขายในราคาเดิมให้ได้ แม้ต้นทุนจะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม จึงมองว่ารัฐบาลควรเปิดเวทีวางมาตรการแก้ปัญหาร่วมกับภาคเอกชนในธุรกิจ เพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว

         "เงื่อนไขของธนาคารที่มีความเข้มงวดตามเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มากอยู่แล้ว รวมทั้งมีความกังวลในส่วนหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของตัวเองด้วย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน การช่วยเหลือต้องเป็นการสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารได้มากขึ้น รวมถึงอัตรา ดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาอยู่ จะเป็นส่วนช่วยธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไป และไม่กลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น" นายวิศิษฐ์กล่าว
         
         จี้เหวี่ยงแห'บิ๊กโปรเจ็กต์'

         นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ช่วงที่งบประมาณประจำปี 2567 ใกล้ที่จะสามารถเบิกจ่ายได้แล้ว นั้น การกระจายเม็ดเงินจากงบประมาณลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะลงไปถึงกลุ่มคนระดับแรงงาน เข้าถึงคนส่วนใหญ่ กระจายไปในท้องถิ่น เป็นการเหวี่ยงแหขนาดใหญ่อย่างทั่วถึงก่อน จากนั้นต้องมาพิจารณาดูว่า จะมีวิธีการกระตุ้นหรือสนับสนุนการลงทุนในช่วงการชะลอตัวแบบนี้ได้อย่างไรบ้าง เพราะอาจมีบางธุรกิจที่ยังสามารถส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มเติมได้ เพราะแม้เป็นภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ในบางด้านก็ยังเติบโตได้ดี อาทิ ท่องเที่ยว หรือแม้แต่ส่งออกที่ถึงมีหลายตัวที่ยอดคำสั่งซื้อลดน้อยลง แต่ก็มีหลายตัวที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

         ปาล์มเมืองคอนปลุกสู้ราคาดิ่ง

         ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม เปิดเผยว่า วันนี้ราคาปาล์มต่ำลงมาอย่างหนัก ถึงขั้นปิดโรงงานรับซื้อแล้ว เกษตรกรจะเอาปาล์มไปขายกันที่ไหน ถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรชาวสวนปาล์มจะต้องลุกขึ้นกันอีกครั้งหนึ่ง

         แหล่งข่าวจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องปาล์มน้ำมันรายหนึ่ง ระบุว่า ราคาผลปาล์มไทย ทำไมต่ำกว่ามาเลเซีย และอินโดนีเซีย สาเหตุหลักคือเปอร์เซ็นต์ยีลด์ที่ตกต่ำมากจาก 17-19% เหลือ 14-16% ในขณะที่ต่างประเทศยีลด์ยังปกติหรือลดลงน้อยกว่าไทย เมื่อคำนวณกลับมาเป็นราคาผลปาล์มแล้ว ไทยเลยต่ำกว่ามาก ถามว่าทำไมยีลด์ถึงตกลง เกิดจากสภาพอากาศที่แล้งมาหลายเดือนทั่วประเทศ ปาล์มที่สุกในช่วงที่ฝนไม่ตกมาหลายเดือนเลยเกิดภาวะสุกแดด ปาล์มสีแดงแต่ไม่มีน้ำมัน ต้องให้มีฝนตกลงมาต่อเนื่องซักระยะและให้เวลาปาล์มได้ดึงน้ำไปฟื้นฟูต้นและผลปาล์ม ยีลด์ถึงกลับมาดีได้ ส่วนปาล์มร่วงคือลูกปาล์มเป็นเม็ดๆ ปกติถ้านำเข้าไปบีบโดยไม่มีทะลาย จะได้ยีลด์ถึง 30-35% ของน้ำหนักเข้าผลิต ถ้าโรงงานไหนเอาปาล์มร่วงเข้าผลิต ยีลด์ก็จะดีขึ้น แต่เป็นการทำลายอุตสาหกรรม เพราะทะลายปาล์มที่เข้าผลิตของโรงงานอื่นก็จะให้ยีลด์ที่ลดลง ปัจจุบันโรงงานสกัดแบบมาตรฐาน (โรง A) ไหนที่รับซื้อปาล์มร่วง ท่านพบเห็นสามารถแจ้งไปที่พาณิชย์จังหวัดให้เข้าไปตรวจสอบได้เลย

 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ