โจทย์ใหญ่ ฟื้นตลาดอสังหาฯ ไทย แนะร่วมผลักดันมาตรการต่อเนื่อง
Loading

โจทย์ใหญ่ ฟื้นตลาดอสังหาฯ ไทย แนะร่วมผลักดันมาตรการต่อเนื่อง

วันที่ : 1 มิถุนายน 2567
นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดอสังหาฯในปัจจุบัน ว่าด้านอุปสงค์อ่อนแอจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับการขาดเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความกล้าลงทุนในระยะยาวลดลง
      กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่ใหญ่และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาฯ ของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ส่งผลให้กำลังซื้ออ่อนแอลงการฟื้นตัวของภาคอสังหาฯ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องการคำตอบเพื่อความยั่งยืน ที่ปัจจุบันตลาดอสังหาของไทยได้มีมาตรการหลากหลายเพื่อออกมากระตุ้น ทั้งจากภาครัฐเองทั้งจากธนาคารในส่วนของภาครัฐ

      นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ได้วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดอสังหาฯในปัจจุบัน ว่าด้านอุปสงค์อ่อนแอจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับการขาดเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความกล้าลงทุนในระยะยาวลดลง ขณะที่การขอสินเชื่อเป็นไปอย่างยากลำบาก มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูง และต้นทุนของอสังหาฯเพิ่มสูง ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน ค่าแรง

       นอกจากนี้ประเทศยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานช่างก่อสร้างที่มีฝีมือ จะส่งผลให้ราคาอสังหาฯ สูงขึ้นราวปีละ 3-5% ทำให้ในปีนี้มีโอกาสที่จะติดลบถึง 10% แต่ด้วยปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นผู้มีรายได้ปานกลางให้ซื้อบ้าน การเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ช่วยให้เกิดการลงทุนมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ อย่างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีส้ม ส่วนต่อขยายสายสีเขียว และโครงการ EEC สถานีรถไฟกลางบางซื่อ ที่จะดึงดูดการลงทุนจากในไทยและต่างประเทศ

       ทั้งนี้ การเติบโตของตลาดอสังหาฯยังอยู่ในสภาวะเปราะบาง ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นกับภาระผูกพันระยะยาว รวมถึงสถาบันการเงินที่ยังเข้มงวดในการให้สินเชื่อ จึงทำให้ยังมีปัจจัยด้านลบที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตขิงธุรกิจอสังหาฯ เช่นเดียวกันนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานสมาคมอาคารชุดไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ในประเทศไทย โดยระบุว่าปัจจุบันตลาดอสังหาฯ ไทยได้กลายเป็นตลาดระดับโลกที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของยอดขายคอนโดมิเนียมทั้งหมดในปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าตลาดในประเทศชะลอตัวลง โดยยอดขายในไตรมาสแรกในกรุงเทพและปริมณฑลลดลง -25% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน และ -18% เมื่อเทียบปีก่อน ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี

       ขณะเดียวกันไทยยังเป็นที่จุดหมายที่น่าสนใจของชาวต่างชาติสำหรับการขายให้ชาวต่างชาติยังคงเติบโต โดยในไตรมาสแรกขยายตัว 10% จากปีก่อน มาจากกลุ่มชาวจีน เมียนมา ไต้หวัน และรัสเซีย โดยจากยอดการโอนกรรมสิทธิ์ของอาคารชุดมูลค่า 1 ล้านล้านบาททั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนของชาวต่างชาติ 25% โดยจังหวัดที่เป็นที่นิยม ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี และภูเก็ต

       ทั้งนี้ ยังมีมาตรการ LTV ที่รอการผ่อนคลายจากสถาบันการเงิน ซึ่งมีผลต่อยอดขายอสังหาฯอย่างมาก ทั้งนี้มีแผนเสนอให้มีแนวทางการผ่อนมาตรการ LTV ชั่วคราวให้มีการพิจารณาปีต่อปี โดยให้สอดรับกับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ จากรัฐบาล และหลังจากสถานการณ์เข้าสู้สภาวะปกติ จึงค่อยปรับเกณฑ์มาตรการ LTV ใช้สำหรับบ้านหลังที่สาม

      นายมนู ตระกูลวัฒนกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีคอน จำกัด ในฐานะตัวแทนสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านและสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย โดยระบุว่า มูลค่ายอดขายรวมของสมาคมทั้งสองแห่งมีประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอสังหาฯรายใหญ่ แต่ถือเป็นตัวเลขที่สะท้อนปริมาณความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค จึงเสนอแนะให้ภาครัฐออกมาตรการเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ระบบมากขึ้น เช่น กำหนดให้ระบุรายชื่อผู้รับเหมาในการขออนุญาตก่อสร้าง เพื่อควบคุมการเสียภาษี และป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม

      นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์ถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ออกมาเพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเห็นว่ามาตรการเหล่านั้นมีส่วนช่วยเหลือทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการ สำหรับผู้ประกอบการนั้น มาตรการสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ให้สิทธิพิเศษแก่โครงการที่มีบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ถือเป็นมาตรการที่ดี

      อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินยังมีความกังวลในปัญหาหนี้ครัวเรือนดังนั้น การแก้ปัญหาในระยะสั้นจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างความคุ้นเคยและไม่ให้ประชาชนรู้สึกถึงความรุนแรงของปัญหามากจนเกินไป โดยภาครัฐอาจต้องมีมาตรการเพื่อเพิ่มจำนวนประชาชนที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยนอกจากการซื้อนอกจากเอกชน เช่น บ้านเช่าราคาประหยัดภายใต้การบริหารของภาครัฐ เป็นต้น
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ