อสังหาฯ เร่งปั๊ม 'บ้านบีโอไอ' ป้อนตลาด
Loading

อสังหาฯ เร่งปั๊ม 'บ้านบีโอไอ' ป้อนตลาด

วันที่ : 30 พฤษภาคม 2567
ออริจิ้น เผยว่า ขณะนี้มาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมา เช่น ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ยังไม่เห็นผลได้เร็ว เพราะกำลังซื้ออ่อนแอ อัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อหรือรีเจ็กต์เรต ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะขายได้ ต้องวัดใจกันที่ยอดโอน
         'ออริจิ้น' ทุ่มหมื่นล้านผุด12โปรเจ็กต์  'รีเจ้นท์' ไล่ซื้อที่ดินใกล้รถไฟฟ้าเพิ่ม
 
        เช็กเรตติ้ง มาตรการโครงการบ้านบีโอไอ 1.5 ล้าน 'ออริจิ้น'คัด 12 โครงการ มูลค่า 1 หมื่นล้าน ทั้งโปรเจ็กต์เก่า สร้างใหม่ ป้อนตลาด 'รีเจ้นท์โฮม' เร่งซื้อที่ดินเพิ่ม เล็งทำเลรถไฟฟ้า เคาะขาย 1.1-1.3 ล้าน

         นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ทยอยนำโครงการคอนโดมิเนียมยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท (โครงการบ้านบีโอไอ) ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขยายเพดานราคาจากเดิม 1.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการอนุมัติวันที่ 9 เมษายน 2567 โดยบริษัทจะพัฒนา 12 โครงการ จำนวน 7,000 ยูนิต มูลค่าร่วม 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 8 โครงการเดิม และ 4 โครงการใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ทำเลใกล้รถไฟฟ้าและต่างจังหวัด เช่น บางปะกง เป็นต้น

         "โครงการสร้างเสร็จ ยังไม่ได้โอน ก็ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอได้ ขณะนี้มี 1 โครงการที่บางแคสร้างเสร็จแล้ว ได้ปรับราคาให้เข้าเกณฑ์บีโอไอ ที่ต้องมียูนิตไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ประมาณ 80% ของโครงการ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีบ้านเป็นของตัวเองได้ อีกทั้งมาตรการนี้จะจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมพัฒนาโครงการได้มากขึ้น ทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านแนวราบ" นายพีระพงศ์กล่าว

         นายพีระพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมา เช่น ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ยังไม่เห็นผลได้เร็ว เพราะกำลังซื้ออ่อนแอ อัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อหรือรีเจ็กต์เรต ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะขายได้ ต้องวัดใจกันที่ยอดโอน

         นายนิรัตน์ อยู่ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รีเจ้นท์ กรีน เพาเวอร์ จำกัด ผู้พัฒนาคอนโดมิเนียมแบรนด์รีเจ้นท์ โฮม กล่าวว่า บริษัทใช้สิทธิบีโอไอพัฒนาคอนโดมิเนียมทุกโครงการ การที่รัฐขยายเพดานราคาเป็น 1.5 ล้านบาท ทำให้ซื้อที่ดินใกล้สถานีรถไฟฟ้าเพื่อพัฒนาโครงการได้ โดยปัจจุบันมีที่ดินสามารถพัฒนาได้ถึง 20,000 ยูนิต เช่น เพชรเกษม 16 สถานีตากสิน สุขุมวิทตอนกลาง พระราม 4 ล่าสุดกำลังเร่งซื้อที่ดินเพิ่ม ตั้งเป้าพัฒนาให้ได้ปีละ 5,000-7,500 ยูนิต

         นายนิรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมนำโครงการยื่นขอสิทธิบีโอไอแล้ว แบ่งเป็นอาคาร 8 ชั้น ราคา 1.1-1.3 ล้านบาท เช่น พหลโยธิน 52 จำนวน 800 ยูนิต หัวหมาก 300 ยูนิต สุขุมวิท 101 จำนวน 240 ยูนิต สุขุมวิท 93 ประมาณ 1,000 ยูนิต ลาดพร้าว 41 ประมาณ 300 ห้อง และเป็นอาคารสูง เช่น วงศ์สว่าง ประมาณ 1,000-2,000 ห้อง ราคา 1.25-1.3 ล้านบาท แม้บีโอไอขยายเพดานให้ 1.5 ล้านบาท แต่สามารถขายในราคาต่ำกว่าได้ ทำให้สามารถทำได้หลายระดับราคา ไม่ใช่ราคาเดียวเหมือนเมื่อก่อน

         นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีแผนพัฒนาโครงการบ้านบีโอไอในช่วงปี 2567-2568 เพราะยังไม่มีที่ดินที่เหมาะสำหรับพัฒนาโครงการในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวถือว่าดีที่รัฐบาลขยายเพดานราคาให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาโครงการได้ ในภาวะที่ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงล่าง ซื้อที่อยู่อาศัยได้ ทั้งนี้มีขอเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกเป็นเกณฑ์ถาวรมากกว่าที่จะออกเป็นช่วงเวลา เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้มีการวางแผนพัฒนาโครงการได้เหมือนในอดีต
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ