ผวา! หนี้ครัวเรือนจ่อปะทุอีก2.2ล้านล.
Loading

ผวา! หนี้ครัวเรือนจ่อปะทุอีก2.2ล้านล.

วันที่ : 1 เมษายน 2567
 เครดิตบูโรจับตาหนี้ที่มองไม่เห็นพร้อมระเบิด 2.2 ล้านล้าน ชี้ครูกู้หนักมือ 1.4 ล้านล้าน ห่วงหนี้เน่าพุ่ง ไม่หยุด ล่าสุดขยับเป็น 91% ของจีดีพี
   เครดิตบูโรชี้ครูขยันขอสินเชื่อ-ห่วงเอ็นพีแอลพุ่งไม่หยุด

   นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือ 91% ของจีดีพีที่ 17.8 ล้านล้านบาท ส่วนข้อมูลหนี้ ครัวเรือนเก็บโดยเครดิตบูโร 13.6 ล้านล้านบาท และยังมีหนี้ที่มองไม่เห็นพร้อมระเบิด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ปล่อยกู้สมาชิก 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นครู และบุคลากรทางการศึกษามากู้สหกรณ์ ทั้งที่ทำงานอยู่และเกษียณรวม 8 แสนล้านบาท และกลุ่มนี้ยังขอสินเชื่อกับแบงก์รัฐ ธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์อีก 6 แสนล้านบาท รวมเป็นทั้งสิ้น 1.4 ล้านล้านบาท

    ส่วนของข้อมูลหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) มีทั้งสิ้น 1.05 ล้านล้านบาท อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ 1.04 ล้านล้านบาท และยังมีหนี้กำลังจะเสียค้างชำระ 30-90 วัน ซึ่งอันตรายสุดเพราะไหลมาเรื่อยๆ โดยสิ้นปี 2566 หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) อยู่กว่า 6.1 แสนล้านบาท คาดการณ์ 12 เดือนข้างหน้าหนี้เสียจะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านล้านบาท และเอสเอ็ม หรือหนี้ที่ใกล้จะเสียมี 8 แสนล้านบาท

    "หนี้เสียที่อยู่อาศัยมี 1.4 แสนหลัง เท่ากับว่าเป็นส่วนที่บ้านถูกยึด หนี้เสียรถเข้าลานประมูลเยอะ แต่ที่น่าจับตาคือหนี้เสียบ้านเพราะมีอัตราการไหลเป็นหนี้เสียถึง 22% มองว่าการตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เป็นเพียงย้ายหนี้ไปอีกแห่งหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ทำให้หนี้หายไป"

      นายสุรพลกล่าวว่า หนี้ครัวเรือน 13.6 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้บัตรเครดิตคงค้าง 5 แสนล้านบาท จำนวน 24 ล้านใบ และมีหนี้ส่วนบุคคล 31.8 ล้านบัญชี, รถยนต์ 6.5 ล้านคัน และสินเชื่อบ้าน 5 ล้านล้านบาท เป็นต้น ซึ่งเติบโตมากขึ้น เช่น สินเชื่อบ้านมีการอนุมัติ 1 แสนบัญชีต่อไตรมาส และสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะจากแบงก์รัฐเพิ่มขึ้นช่วงโควิดจากการให้กู้เพื่อใช้ดำรงชีพ 10,000-20,000 บาท ซึ่งครบ 1 ปีแต่ลูกหนี้ไม่สามารถปิดหนี้ส่วนนี้ได้ ตามมติ ครม.หากเป็นหนี้เสีย รัฐจะรับชดเชย 50%

      ขณะที่หนี้ครัวเรือนได้เร่งตัวขึ้นจากปี 2554 จาก 76% เป็น 85% และเป็น 91% ต่อจีดีพีในปัจจุบันซึ่งเป็นจุดอันตรายที่ทางธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) กำหนด ไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี โดย ธปท.คาดการณ์ลดหนี้ครัวเรือนให้อยู่ระดับ 89% ในอีก 3 ปี หรือในปี 2570 ซึ่งระบุไว้ในการให้ธนาคารพาณิชย์ทำแผนสเตรทเทส หรือแผนรองรับวิกฤตเข้ามา