ดีเวลลอปเปอร์แห่เปิดบ้านหรูหนีรีเจกต์เรต เล็ง ร่วมทุน แลนด์ลอร์ดพัฒนาโปรเจกต์
Loading

ดีเวลลอปเปอร์แห่เปิดบ้านหรูหนีรีเจกต์เรต เล็ง ร่วมทุน แลนด์ลอร์ดพัฒนาโปรเจกต์

วันที่ : 21 กุมภาพันธ์ 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) พบว่า จำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท "ติดลบ" ทุกกลุ่ม หากจำแนกตามระดับราคา พบว่า กลุ่มราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทลงไป แนวโน้มติดลบทุกเซ็กเมนต์ ทั้งในแง่หน่วยและมีมูลค่า
     บุษกร ภู่แส
    
     กรุงเทพธุรกิจ


     จากตัวเลข ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) พบว่า จำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท "ติดลบ" ทุกกลุ่ม หากจำแนกตามระดับราคา พบว่า กลุ่มราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทลงไป แนวโน้มติดลบทุกเซ็กเมนต์ ทั้งในแง่หน่วยและมีมูลค่า ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ แห่พัฒนาโครงการบ้านหรูระดับราคาตั้งแต่ 5 ล้านบาท ลดความเสี่ยง รวมทั้งจับมือแลนด์ลอร์ดพัฒนาโครงการ

    ธีรเดช เกิดสำอางค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่บริษัทขยายการเติบโตแบบก้าวกระโดด เปิดตัวโครงการใหม่ในหลากหลายทำเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตแบบมั่นคงและยั่งยืน จนกลายเป็นผู้นำทำเลฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ รวมถึงมีโครงการครอบคลุมจังหวัด หัวเมืองใหญ่ที่มีศักยภาพ ส่งผลให้บริษัทได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

     ในปี 2567 นี้บริษัทเปิดโครงการบ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี-บ้านเดี่ยว และบ้านแฝดใหม่ 20 โครงการ มูลค่า 17,000 ล้านบาท ครอบคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล

     พร้อมรุกตลาดต่างจังหวัด 6 จังหวัด อาทิ ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี และขอนแก่น ภายใต้โมเดลพันธมิตรร่วมกับแลนด์ลอร์ดในพื้นที่ ครอบคลุมทุกทำเลศักยภาพโดยตั้งเป้าหมายยอดขายที่ 13,000 ล้านบาท พร้อมยอดโอนกรรมสิทธิ์ 8,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่เลื่อนเปิดตัว 8 โครงการ เหลือ 12 โครงการมูลค่า 16,500 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 20 โครงการ มูลค่า 20,000 ล้านบาท

     "สภาพเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ไม่เอื้ออำนวย สะท้อนได้จากตัวเลขจีดีพี ที่โตแค่ 1.9% ขณะที่ ปีนี้คาดการณ์จีดีพีจะขยายตัว 2.2-3.2% ซึ่งธุรกิจอสังหาฯ ล้อไปกับตัวเลขจีดีพี ปีนี้จึงเลือกที่เปิดโครงการ ที่เจาะกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อ ในทำเลศักยภาพทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด"

     โดยปีนี้บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการเติบโตแบบยั่งยืน เช่นเดียวกับดีเวลลอปเปอร์หลายรายที่ระมัดระวังการเปิดตัวโครงการเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงไม่มีปัญหารีเจกต์เรต!

      สำหรับโครงการที่เน้นในปีนี้ ได้แก่ โครงการ เบลกราเวีย บ้านเดี่ยวลักชัวรี ระดับราคา 20-50 ล้านบาท จำนวน 4 โครงการ แกรนด์ บริทาเนีย บ้านเดี่ยวและบ้านแฝดระดับราคา 8-20 ล้านบาท จำนวน 5 โครงการ บริทาเนีย บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ระดับราคา 4-8 ล้านบาท จำนวน 9 โครงการ ไบรตัน บ้านแฝดและทาวน์โฮม ระดับราคา 2.5-4 ล้านบาท 1 โครงการ และ พูลวิลล่า 1 โครงการมูลค่า 350 ล้านบาท

      นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับโมเดล "ร่วมทุน" จาก 20 โครงการ เป็นโครงการร่วมทุน 16 โครงการ ส่วนที่เหลือ 4 โครงการจะเป็นโครงการที่ลงทุนเอง

      การลงทุนเป็นโครงการในต่างจังหวัด 12 โครงการ มูลค่า 9,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการขนาดเล็กที่จะสามารถพัฒนาได้เร็วเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศสร้างความได้เปรียบจากคู่แข่งได้เป็นอย่างดี

      โครงการที่จะเปิดใหม่ในปี 2567 ปัจจุบันมีที่ดินรองรับแล้วทั้งหมด โดยปัจจุบันมีที่ดินรองรับการพัฒนาในมือ 23 แปลง เป็นที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการร่วมทุน 14 แปลง ส่วนที่เหลืออีก 19 แปลง เป็นที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการไม่ร่วมทุน ส่วนงบลงทุนซื้อที่ดินใหม่จะเป็นการพิจารณาเป็นแปลง

       สมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) มองว่าตลาดอสังหาฯ ปีนี้จะเติบโตขึ้น จากปีก่อนที่มีฐานต่ำ แต่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยยังสูง คาดว่าอาจลดลงช่วงกลางปีนี้ ส่งผลให้ปีนี้ผู้ประกอบการปรับตัว ด้านการเปิดตัวโครงการไม่มากเพื่อ ไม่ให้โอเวอร์ซัพพลาย

      อย่างไรก็ตาม แนวโน้มตลาดบ้านในบางทำเลเข้าสู่ภาวะเรดโอเชียนที่ มีการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากจำนวนซัพพลายสูง ขณะที่กำลังซื้อลดลง ดังนั้น ในปี 2567 เน้นกลยุทธ์ลงทุนอย่าง ระมัดระวัง โดยเปิดตัว 6 โครงการ มูลค่า 7,218 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 โครงการ ในทำเลปทุมธานี และ 1 โครงการ ทำเลนครปฐม

     "ปีนี้บริษัทเน้นบ้านราคา 5-7 ล้านบาท ในสัดส่วน 40% บ้านราคา 3-5 ล้านบาท สัดส่วน 30% และบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป สัดส่วน 30% จากเดิม เป็นบ้านราคา 3-5 ล้านบาท 60-70% โดยตั้งเป้ายอดขาย 5,007 ล้านบาท เป้ารับรู้รายได้ 3,020 ล้านบาท"

      สมนึก กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันบ้านราคา 3-5 ล้านบาทยังมีดีมานด์ แต่อัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูง! รวมถึงสถาบันการเงิน เข้มงวดปล่อยสินเชื่อจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าที่โดนปฏิเสธกู้บ้าน มากสุด คือ กลุ่มที่มีรายได้ต่อครัวเรือนไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน มีอาชีพ "เอสเอ็มอี" และพนักงานเงินเดือน ต่างจากกลุ่ม 5 ล้านบาท ขึ้นไป ที่มีปัญหาการปล่อยสินเชื่อน้อย เพราะเป็นกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อผ่อนไหว จึงดีกว่าในแง่ความยั่งยืน

 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ