สูงวัย เยอะบ้านขาดตลาด
Loading

สูงวัย เยอะบ้านขาดตลาด

วันที่ : 29 พฤศจิกายน 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ผลสำรวจได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายถึงประชากรผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปี จะมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของประชากรไทยทั้งหมด และจะมีสัดส่วนถึง 28% ในปี 2578
          กระจุกในเมืองมีเงินถึงมีที่อยู่

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุทั่วประเทศ ปี 66 แม้จะขยายตัวในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับความต้องการ และยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมือง รวมถึงผู้สูงอายุที่มีฐานะที่มีโอกาสเข้าถึง ดังจะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุของไทยปัจจุบันมี 12.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่ต้องการที่อยู่อาศัยประมาณ 5% หรือ 650,000 คน แต่จะมีผู้สูงอายุเข้าสู่ระบบการบริการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพียง 1% หรือ 130,000 คน

          ปัจจุบัน มีที่อยู่อาศัยรองรับผู้สูงอายุได้เพียงไม่เกิน 20,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมี 435 แห่ง สัดส่วน 57% อีกทั้งโครงการที่พัฒนาส่วนใหญ่รองรับกลุ่มคนที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างดีและฐานะดีขึ้นไป ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีฐานะปานกลางและฐานะไม่ดีนัก ยังคงมีการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในการรองรับอย่างมาก เห็นได้จากที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุของรัฐที่จัดให้บางแห่งในปัจจุบันมีผู้ลงชื่อรอขอเข้าอยู่อาศัย 2,500-3,000 คน แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถจัดที่อยู่อาศัยรองรับได้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลในการหาแนวทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในการรองรับผู้สูงอายุได้เพียงพอ

          "ผลสำรวจได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายถึงประชากรผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปี จะมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของประชากรไทยทั้งหมด และจะมีสัดส่วนถึง 28% ในปี 2578 แต่การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุยังคงเติบโตช้า และไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สูงอายุในปัจจุบัน"

          สำหรับผลสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุทั้ง 758 แห่งยังระบุด้วยว่า โครงการประเภทเนิร์สซิ่งโฮม หรือ สถานบริบาลผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้เข้าถึงมากสุด 708 แห่ง รองรับได้รวม 15,324 คน มีอัตราเข้าพัก 63.7% รองลงมาเป็น เรสซิเดนเชียล หรือที่อยู่อาศัยซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุแต่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ มี 19 แห่ง รองรับได้ 1,328 คน เช่น สวางคนิเวศ สภากาชาดไทย, โครงการเวลเนสซิตี้ และบุศยานิเวศน์ มีอัตราการเข้าพัก 73% สถานสงเคราะห์ มูลนิธิ 26 แห่ง รองรับได้รวม 2,681 คน มีอัตราการเข้าพัก 100.0% โรงพยาบาล 4 แห่ง รองรับได้รวม 155 คน และมีเข้าพัก 53.5% และประเภทเดย์ แคร์ 1 แห่ง

          ส่วนธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮม หรือ สถานบริบาลผู้สูงอายุว่า ทั่วประเทศมี 708 แห่ง จำนวน 15,324 เตียง ใน 55 จังหวัด โดยพบช่วงราคาค่าเช่าเฉลี่ยที่เดือนละ 10,001-20,000 บาท รองลงมา 20,001-30,000 บาท อันดับสาม 30,001-50,000 บาท และที่เหลือช่วงราคา 50,000 บาทขึ้นไป โดยมีข้อสังเกตว่าช่วงราคาไม่เกิน 10,000 บาท มีสัดส่วน 1.5% เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็น เนิร์สซิ่งโฮมที่เข้าถึงได้ สำหรับผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่ยังมีอยู่อย่างจำกัด  การกระจายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุใน 10 จังหวัดแรก เช่น กรุงเทพฯ รองลงมา นนทบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี  เป็นต้น