ที่พักวัยเกษียณคนไทย เหลื่อมล้ำ สูง
Loading

ที่พักวัยเกษียณคนไทย เหลื่อมล้ำ สูง

วันที่ : 29 พฤศจิกายน 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ตลาดที่อยู่อาศัยรองรับสูงวัยพุ่ง ชี้กระจุกตัวอยู่แค่ 10 จังหวัด สูงสุดเลือกเช่าพักรายเดือนในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล แนะรัฐออกนโยบายดึงต่างชาติมาพำนักยาว ดันไทยเมืองวัยเกษียณ
          ลงชื่อจองสวัสดิการรัฐแค่3พันคนยังไร้ที่อยู่

          REIC ชี้ช่องทำเงินดึงต่างชาติมาพำนักยาว

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ศูนย์ข้อมูลได้สำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันมี 758 แห่ง รองรับผู้สูงอายุได้รวม 19,490 คน มีอัตราการเข้าพัก 69.3% แบ่งเป็นประเภทเนิร์สซิ่งโฮม หรือสถานบริบาลผู้สูงอายุ 708 แห่ง รองรับได้ รวม 15,324 คน หรือ 78.6% มีอัตราการเข้าพัก 63.7% ที่อยู่อาศัยพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ยังดูแลตัวเองได้ 19 แห่ง รองรับได้รวม 1,328 คน เช่น สวางคนิเวศ สภากาชาดไทย, เวลเนสซิตี้ และบุศยานิเวศน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น มีอัตราการเข้าพัก 73%, สถานสงเคราะห์ หรือมูลนิธิ 26 แห่ง รองรับได้รวม 2,681 คน มีอัตราการเข้าพัก 100%, โรงพยาบาล 4 แห่ง รองรับได้รวม 155 คน มีเข้าพัก 53.5% และประเภทเดย์แคร์ 1 แห่ง

          นายวิชัยกล่าวว่า กระจายตัวอยู่ใน 10 จังหวัดแรก 574 แห่ง หรือ 75.7% ของที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุทั้งหมด ได้แก่ กรุงเทพฯ 257 แห่ง รองรับ 7,140 คน อัตราการเข้าพัก 68.2% นนทบุรี 78 แห่ง รองรับ 1,759 คน อัตราการเข้าพัก 68.3% เชียงใหม่ 54 แห่ง รองรับ 688 คน อัตราการเข้าพัก 81.8% ชลบุรี 42 แห่ง รองรับ 822 คน อัตราการเข้าพัก 64.6% ปทุมธานี 39 แห่ง รองรับ 877 คน อัตราการเข้าพัก 72.5% นครปฐม 30 แห่ง รองรับ 876 คน อัตราการเข้าพัก 59.1% สมุทรปราการ 24 แห่ง รองรับ 1,206 คน อัตราการเข้าพัก 40.1% ขอนแก่น 19 แห่ง รองรับ 669 คน อัตราการเข้าพัก 88.9% ราชบุรี 16 แห่ง รองรับ 425 คน มีอัตราการเข้าพัก 39.1% และพิษณุโลก 15 แห่ง รองรับ 217 คน อัตราการ เข้าพัก 79.1% พบว่าส่วนใหญ่สิทธิในการครอบครองที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เป็นแบบเช่ารายเดือน 699 แห่ง หรือ 92.5% รองลงมาเป็นแบบการอยู่อาศัยตลอดชีวิต 34 แห่ง หรือ 4.5% แบบมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 14 แห่ง หรือ 1.9% และเช่าระยะยาว 9 แห่ง หรือ 1.2%

          "ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุในปัจจุบัน มีการขยายตัวมากแต่ยังกระจุกตัว ไม่ได้กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่มากนัก ทำให้ไม่สามารถรองรับกลุ่มผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง และในภาพรวมมีจำนวนไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับความต้องการในปัจจุบัน เทียบกับจำนวนผู้สูงอายุของไทยที่มี 12.9 ล้านคน คาดมีผู้สูงอายุต้องการที่อยู่อาศัย 5% หรือ 650,000 คน คาดว่าอาจมีผู้สูงอายุที่เข้าสู่ระบบการบริการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพียง 1% หรือ 130,000 คน ขณะที่ปัจจุบันมีที่อยู่อาศัยรองรับ ผู้สูงอายุได้ไม่เกิน 20,000 คน" นายวิชัยกล่าว

          นายวิชัยกล่าวว่า ในจำนวนนี้ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล 435 แห่ง หรือ 57% และรองรับได้ ไม่เกิน 12,000 คน หรือ 61.4% ทั่วประเทศ โครงการพัฒนาขึ้นส่วนใหญ่รองรับกลุ่มคนมีฐานะปานกลางค่อนข้างดีและฐานะดี ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุฐานะปานกลาง และฐานะไม่ดี ขาดแคลนที่อยู่อาศัยอย่างมาก โดย ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุของรัฐจัดให้บางแห่งปัจจุบันมีผู้ลงชื่อรอขอเข้าอยู่อาศัย 2,500-3,000 คน แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดจัดที่อยู่อาศัยรองรับได้ สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นโจทย์สำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลในการหาที่อยู่อาศัยรองรับผู้สูงอายุให้เพียงพอสำหรับทุกกลุ่ม นอกจากนี้ในการขับเคลื่อนนโยบายดึงดูดชาวต่างชาติ ในกลุ่มที่เกษียณอายุเข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยต้องพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีมาตรฐานให้มากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาเมดิคัลฮับและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ช่วยทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางวัยเกษียณ สำหรับผู้สูงอายุทั่วโลก เป็นปัจจัยสำคัญช่วยดึงดูดชาวต่างชาติที่ต้องการหาที่พำนักระยะยาวช่วงวัยเกษียณ และไทยเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในโลก

          "การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเข้ามาจัดทำนโยบายและวางแผนการพัฒนาอย่างจริงจัง สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างดี เพราะที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ คือ ที่รวมของปัจจัยสี่อย่างครบถ้วนในการดำเนินชีวิต และยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในยุคต่อไปอีกด้วย" นายวิชัยกล่าว