ครัวเรือนกระอักหนี้พุ่งเศรษฐกิจไทยโตกระจุก
Loading

ครัวเรือนกระอักหนี้พุ่งเศรษฐกิจไทยโตกระจุก

วันที่ : 31 กรกฎาคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า บรรยากาศการซื้อที่อยู่อาศัย ปัจจุบันจากภาวะหนี้ครัวเรือนสูงทำให้ความต้องการและกำลังซื้อไม่ไปด้วยกัน จึงทำให้ตลาดไม่ดีอย่างที่คิดไว้ แม้ ไตรมาส 1 และไตรมาส 2 การโอนกรรมสิทธิ์ยังดีอยู่
           นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึง ผลสำรวจ "สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2566" จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งภาระหนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้นตั้งแต่ในช่วงสงครามการค้าและถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ที่ตกต่ำลง จำเป็นต้องมีการก่อหนี้ เพื่อใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะคน Gen Y และ Gen Z มีการใช้เงินล่วงหน้ามากขึ้น โดยไม่มีการวางแผน และเมื่อรายได้รวมถึงเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามที่คาด จึงส่งผลกระทบต่อภาวะหนี้ที่สูงขึ้น โดยในปี 2566 นี้ หนี้ครัวเรือนไทย ขยายตัว 11.5% คิดเป็นมูลค่าหนี้ 559,408 บาทต่อครัวเรือน โดย 80.2% เป็นหนี้ในระบบ และ 19.8% เป็นหนี้นอกระบบ

          ทั้งนี้ คาดว่า ยอดหนี้จะพุ่งสูงสุด ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 นี้ ยังไม่แน่นอน จึงทำให้ยังไม่มีเงินเพียงพอชำระหนี้และอาจต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อประคองตัว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเวลานี้ เติบโตแบบ K-Shaped  ในช่วงที่การส่งออก ดีแต่การท่องเที่ยวกลับได้รับผลกระทบ และในช่วงที่การท่องเที่ยวเริ่มผ่อนคลายขึ้น การส่งออกกลับทรุดตัวลงเนื่องจากปัจจัยภายนอกจากภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และหากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าจะยิ่งส่งผล กระทบต่อความเชื่อมั่นและการลงทุน  กดดันภาวะเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวนั้น อยากให้มีการพิจารณาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้ความรู้ในการบริหารจัดการหนี้ การบริหารค่าใช้จ่าย และเพิ่มการคัดกรองที่ดีขึ้นของสถาบันการเงินเพื่อลดปัญหาการสร้างหนี้เพิ่มเป็นต้น

          ด้าน นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า บรรยากาศการซื้อที่อยู่อาศัย ปัจจุบันจากภาวะหนี้ครัวเรือนสูงทำให้ความต้องการและกำลังซื้อไม่ไปด้วยกัน จึงทำให้ตลาดไม่ดีอย่างที่คิดไว้ แม้ ไตรมาส 1 และไตรมาส 2 การโอนกรรมสิทธิ์ยังดีอยู่ ทั้งนี้ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ถ้าไม่มีรัฐบาล ไม่มีมาตรการกระตุ้น มีโอกาส ที่ตลาดจะไม่เติบโตอย่างที่คิด ยิ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นอีก จะกดดันกำลังซื้อในตลาดมากขึ้น ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้ง กระทบต่อภาคอสังหาฯ ทั้ง ผู้ประกอบการที่ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น และผู้ซื้อทำให้ได้วงเงินกู้ลดลง ภาระผ่อน เพิ่มขึ้น 350-400 บาท เมื่อดอกเบี้ย ปรับขึ้นทุก 0.25%

          นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งและปลีกไทย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังซื้อค้าปลีกทั่วประเทศฝืด มากขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะ กลุ่มระดับล่างๆ เพราะไม่มีเงิน แต่ระดับกลาง-บนยังพอไปได้ เพราะมีรายได้ประจำ แต่ไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ