ตั้งรัฐบาลล่าช้าหวั่นศก.สะดุด ฉุดโอกาสลงทุน-ใช้จ่ายชะงัก
Loading

ตั้งรัฐบาลล่าช้าหวั่นศก.สะดุด ฉุดโอกาสลงทุน-ใช้จ่ายชะงัก

วันที่ : 23 พฤษภาคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า เชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงมองการขยับค่าแรงขั้นต่ำหรือเงินเดือนตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ปรับขึ้นทันที
          ภาคธุรกิจหวังจัดตั้งรัฐบาลราบรื่น เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หวั่น "ล่าช้า" กระทบเบิกจ่ายงบประมาณใหม่ เกิดสุญญากาศช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เสียโอกาสฟื้นตัว ฉุดมู้ดลงทุน การจับจ่าย พร้อมพิจารณานโยบาย ส่งผล "ต้นทุนพุ่ง" รอบคอบ แนะ "ทยอย" ปรับค่าแรงขั้นต่ำค่อยเป็นค่อยไป เร่งวางยุทธศาสตร์ รับนักท่องเที่ยวเยือนไทยมหาศาล 80 ล้านคน ในอนาคต

          เศรษฐกิจไทยในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่าง การจัดตั้ง "รัฐบาลใหม่" เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเดินหน้ากำลังเป็นที่จับตาของทุกภาคส่วน ขณะที่ภาคธุรกิจมีข้อกังวลในหลายด้าน

          นายวรวุฒิ กาญจนกูล ประธานบริหาร บริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ในฐานะเอกชนอยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น หากรัฐบาลออกมาหน้าตาดีเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน นักลงทุนไทยและต่างชาติ

          "สิ่งที่กังวลคือ เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญว่าจะดีหรือไม่ดี ที่ผ่านมาการส่งออกไม่ดีเท่าที่ควร ถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามาเร็ว จะทำให้สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็ว ทันเวลา อย่างน้อยเดือน ส.ค.น่าจะได้เห็นรัฐบาลใหม่ เพราะหากยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ปรับตัวไม่ทันกับภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันในตลาด ที่สำคัญจะกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐตามมาด้วย"

          พร้อมกันนี้ ไม่อยากให้รัฐบาลรีบขึ้นค่าแรง ซึ่งขณะนี้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยากให้ทยอยขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ก่อน รวมทั้งเร่งช่วยแก้ปัญหาปากท้องประชาชนก่อน

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า น่ากังวลไทม์ไลน์จัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากงบประมาณภาครัฐ จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะกระทบต่อการอนุมัติงบประมาณใหม่ที่จะเป็น งบลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ มีผลต่อผลิตภัณฑ์รวม ในประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Product) เพราะเศรษฐกิจไม่เติบโตอย่างที่คาดการณ์

          "ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบภาคอสังหาฯ กรณี Worst Case ลดลงเกือบ 20% แต่เป็นเรื่องยากมากที่จะระบุได้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้เร็วแค่ไหนเพราะต้องยอมรับว่าการเมืองเป็นปัจจัยที่มีความอ่อนไหวง่าย"

          ส่วนนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น มองว่าเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อาจส่งผลกระทบได้ เพราะสร้างภาระต้นทุนสูงขึ้นให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กลดการจ้างงานไปด้วย ในส่วนของอสังหาฯไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะส่วนใหญ่จ่ายค่าจ้างเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำกำหนดไว้และหันไปใช้เครื่องจักรแทนแรงงานในบางส่วน

          "เชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงมองการขยับค่าแรงขั้นต่ำหรือเงินเดือนตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ปรับขึ้นทันที"

          เร่งยกระดับ "ท่องเที่ยวไทย"

          นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า  ภาคเอกชน ท่องเที่ยวมองว่าต้องการให้พรรคใหญ่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักแก่ประเทศไทยมากถึง 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด คิดเป็นสัดส่วน 18% ของจีดีพีประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในช่วงการฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ โดย ปี 2570 รายได้รวมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยับสัดส่วนเพิ่มเป็น 25% ของจีดีพี

          "นายกรัฐมนตรีควรให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะเป็นเซ็กเตอร์สำคัญที่ช่วยขยายผลทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีซัพพลายเชนขนาดใหญ่ สร้างผลทวีคูณ (Multiplier Effect) เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น ภาคค้าปลีก ภาคเกษตร ชุมชน และไปถึงระดับฐานราก"

          นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ต้องการให้พรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย ส่งคนที่มีความรู้ความสามารถมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ส่วนตัวมองว่าถ้าได้คนจากพรรคเพื่อไทย น่าจะดีตรงที่มีความชัดเจนเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า แต่ถ้าได้คนจากพรรคก้าวไกลก็น่าจะชัดเจนตรงเรื่องการปรับโครงสร้างสังคม มาช่วยผลักดันการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยว

          เปิดสเปก"รมว.ท่องเที่ยว"มือประสานสิบทิศ

          นายศิษฎิวัชร  กล่าวต่อว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เช่น มหาดไทย ต่างประเทศ คมนาคม สาธารณสุข และอื่นๆ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับภาคท่องเที่ยว

          ส่วนสเปครัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต้องเป็นมือประสานสิบทิศ ผสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคท่องเที่ยวไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด จะอาศัยแค่บุญเก่าหรือต้นทุนเดิมที่เคยทำมาดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเร่งหาสิ่งใหม่ๆ มาเสริมในยุคที่ภาคการท่องเที่ยว ทั่วโลกต่างแข่งขันแย่งชิงนักท่องเที่ยวกันอย่างรุนแรง ทั้งยังมีข่าวเชิงลบกระทบต่อภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องแก้ไขให้ทันในยุคที่การสื่อสารไปเร็วมาก

          "แนวโน้มนักท่องเที่ยวมาไทยจะเข้ามามากถึง 60-80 ล้านคนต่อปีในอนาคต เพิ่มเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับ 40 ล้านคนในปี 2562 ก่อนโควิดระบาด รัฐบาลใหม่ต้องเร่งเตรียมยุทธศาสตร์และแผนการที่ดีในการบริหารจัดการ รวมถึงการเฟ้นหา สิ่งใหม่ จุดขายใหม่ๆ มาดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ กระจายไปยังพื้นที่ในเมืองรองมากขึ้น ซึ่งขึ้นกับ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางของ กระทรวงคมนาคม ต้องเตรียมความพร้อมจุดนี้ ตั้งแต่เนิ่นๆ ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลใหม่ทุ่มงบประมาณกระตุ้นภาคท่องเที่ยวมากกว่านี้ เพราะแม้ภาคท่องเที่ยวไทยจะอยู่ระดับโลก แต่ต้องยอมรับว่าอยู่ในจุดอิ่มตัวพอสมควร ถ้ามีงบฯมากระตุ้น ก็จะไปได้ไกลกว่าเดิม"

          นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคม โรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวเสริมว่า ต้องการเห็นผู้ที่มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นคนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีใจดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และผลักดันแก้ปัญหาภาคการท่องเที่ยวไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ภาคเอกชนต้องพึ่งพา รมว.การท่องเที่ยวฯ สูงมากในการประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวหลายส่วนไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการท่องเที่ยวฯโดยตรง ภาคเอกชนจึงต้องการคนที่เข้ามาพร้อมประสานงาน

          "โรงแรม" ไม่พร้อมขึ้นค่าแรงทันที 450 บาท

          นางมาริสา นายกทีเอชเอ กล่าวด้วยว่า นโยบายของพรรคก้าวไกลที่ส่งผลกระทบต่อ ภาคเอกชนท่องเที่ยว มองว่านโยบายลดค่าไฟได้ทันที 70 สตางค์ต่อหน่วยในปีแรก ถือเป็นเรื่องดี ที่ช่วยอุ้มผู้ประกอบการในภาวะต้นทุนพุ่งแบบนี้ ด้านนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มองว่าในแต่ละจังหวัดท่องเที่ยวควรมีกระบวนการวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับจังหวัดนั้นๆ เอง ไม่ใช่รอทางส่วนกลางสั่งการมา

          "ส่วนนโยบายขึ้นค่าแรงทันที 450 บาท รัฐบาลใหม่ต้องไม่ลืมว่าตอนนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอยู่ในช่วงฟื้นฟูธุรกิจจากการขาดทุน 3 ปีที่เกิดวิกฤติโควิดและถูกซ้ำเติมด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ภาคการโรงแรมจึงยังไม่พร้อมให้ขึ้นค่าแรงทันที เนื่องจากต้นทุนพนักงานเป็นต้นทุนสูงที่สุดของธุรกิจโรงแรม ค่าแรงเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 350 บาทต่อวัน หากปรับขึ้นทันที 450 บาทต่อวัน แบบก้าวกระโดดมากถึง 30% ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการโรงแรม โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการปรับค่าแรงน้อยกว่าโรงแรมขนาดใหญ่"

          รายงานจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า เมื่อปี 2562 ตัวเลขการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทยอยู่ที่ 37,613,438 คน มีสัดส่วนการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 11.64% หรือคิดเป็น 4,376,506 คน กระทั่งเกิดโควิด-19 ระบาด ทำให้ในปี 2563 ซึ่งมีตัวเลขการจ้างงานทั้งหมด 37,680,200 คน มีสัดส่วนการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวลดลงเหลือ 10.38% หรือคิดเป็น 3,909,592 คน

          หวังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ราบรื่นเร่งปลุกศก.

          นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า หวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่คงจะเป็นไปด้วยความรวดเร็วและราบรื่น จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณปี 2567 ซึ่งต้องรีบจัดตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วก่อนเดือน ก.ย. เพื่อให้ทันใช้งบประมาณในปี 2567 พร้อมออกนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุดเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวตามการคาดการณ์ไม่สะดุด ขณะเดียวกันอยากให้ปรับขึ้นค่าแรงอย่างแบบค่อยเป็นค่อยไปมิเช่นนั้นจะเกิดภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบเศรษฐกิจในภาพรวม

          นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัดหรือเอ็มไอ (MI) กล่าวว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ประชาชนตัดสินใจมอบความไว้วางใจแล้ว หากมองข้ามช็อต สว.ต้องทำหน้าที่โหวตนายกรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่มีเรื่องท้าทายต้องทำกว่า 300 เรื่อง นับตั้งแต่การจัดคั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไม่ให้ประชาชนผิดหวัง การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆที่ประกาศไว้ ซึ่งไม่สามารถทำตามใจ ได้ทุกกลุ่ม ทำให้เกิดดราม่าอย่างแน่นอน

          "รัฐบาลใหม่มีเรื่องต้องทำกว่า 300 เรื่อง รวมถึงนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล วาระเร่งด่วนในการบริหารประเทศ ต้องแบ่งความสำคัญในการทำงาน  นอกจากปัญหาเดิมจะมีปัญหาใหม่เข้ามาท้าทาย นโยบายหลายเรื่องอาจทำได้ไม่หมด ทำแล้วอาจถูกใจบางกลุ่ม กลุ่มไหนที่ยังมีเพนพอยท์อาจไม่ถูกใจ หากรัฐบาลดำเนินการนโยบายใดแล้ว ต้องประกาศ สื่อสารให้ประชาชนรับรู้"

          เสนอมาตรการรองรับขึ้นค่าแรง-คำนึงเงินเฟ้อ

          นางประวรา เอครพานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้ออกแบบและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นหญิงในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่กำหนดนโยบายค่าแรงพิจารณาจากหลายปัจจัยรอบๆ ด้าน และการปรับขึ้นแบบรวดเร็วทันที อาจมีผลกระทบภาคธุรกิจหลายๆ  ส่วน ที่ยังไม่มี ความพร้อมในการปรับตัว รวมถึงผลกระทบในระยะยาวจะอยู่รอดได้หรือไม่ จึงต้องหาแนวทาง อื่นๆ หรือมาตรการต่างๆ มารองรับนโยบายนี้

          นายประวิทย์ เตชะวิจิตร์กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ดูนิ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตกระดาษเช็ดปากจากประเทศสวีเดน แบรนด์ ดูนิ (DUNI) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง 450 บาท อยากให้พิจารณาหลายปัจจัย ว่ามีความเหมาะสมอย่างไร โดยเฉพาะสถานการณ์ ในเรื่องเงินเฟ้อและต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ เพื่อดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมที่สุด
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ