เร่งสรุปPPPสีแดงต่อขยาย ชงครม.ลุยตอกเข็มในปี66
วันที่ : 22 ธันวาคม 2564
รฟท.ยังคงให้บริการเดินรถไฟตามเส้นทางเดิม และเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เหมือนเดิมยังไม่มีการปรับเปลี่ยนไปใช้สถานีกลางบางซื่อแต่อย่างใด
"ผู้ว่าฯ รฟท." แจงชัดรถทุกขบวนเข้าหัวลำโพงตามเดิมปีใหม่ 65 ไม่กระทบ เร่งเช็กลิสต์สำรวจความเห็นทุกกลุ่มทำ Action Plan แผนเยียวยา เป้าสุดท้ายเหลือ 22 ขบวนเชิงสังคมเข้าหัวลำโพง ชี้ผลศึกษาหัวลำโพง ไม่เคยพูดทุบทิ้ง ใครให้ข้อมูลเท็จจ่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนรถไฟสีแดงส่วนต่อขยาย เตรียมสรุปเสนอให้ ครม.พิจารณา ดันประมูล ปี 65 ตอกเข็มปี 66
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 ธ.ค.2564 นี้ รฟท.ยังคงให้บริการเดินรถไฟตามเส้นทางเดิม และเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เหมือนเดิมยังไม่มีการปรับเปลี่ยนไปใช้สถานีกลางบางซื่อแต่อย่างใด โดยปัจจุบัน มีการเดินรถไฟเชิงพาณิชย์ 40 ขบวน รถไฟท่องเที่ยว 6 ขบวน (ซึ่งลดลงจาก ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีการเดินรถไฟเชิงพาณิชย์ 84 ขบวน) มีรถไฟเชิงรถไฟเชิงสังคม 40 ขบวน (ซึ่งลดลงจากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มี 52 ขบวน)เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เดินทางตามเดิมในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 และได้มีเวลาปรับตัวกับบริการใหม่
ส่วนการใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นต้นทางปลายทาง นั้น รฟท.ต้องทำการบ้านต่อโดยเช็กลิสต์เพื่อทำเป็น Action Plan รวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนใน 30 วัน เพราะสถานีบางซื่อมีภาระค่าใช้จ่ายเดือนละ 40 ล้านบาท ส่วนหัวลำโพงมีประมาณ 10 ล้านบาท สำหรับแผนการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2565 โดยรถเชิงพาณิชย์ จะเปลี่ยนต้นทางเป็นสถานีกลางบางซื่อ 28 ขบวน รถไฟเชิงสังคม 28 ขบวน และมีรถไฟเชิงสังคม 22 ขบวน ที่ยังคงเข้าสถานีหัวลำโพง ซึ่งพบว่ายังมีผู้ใช้บริการ ขบวนรถเชิงสังคมประมาณ 10,000 คน/วัน
นายนิรุตกล่าวว่า เรื่องการใช้ประโยชน์สถานีกลางบางซื่อ และสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง)เคยมีผลการศึกษาและมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2549 ต่อมา ครม. วันที่ 22 พ.ค.2550 ครม.อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งกระทรวงคมนาคมและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งรถไฟสายสีแดงเป็นรถไฟชานเมือง มีรางขนาด 1 เมตร เพื่อให้รถไฟปัจจุบันสามารถใช้โครงสร้างร่วมกันได้ วันนี้สถานการณ์ปัจจุบันที่อาจเปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องพิจารณาให้เหมาะสม
ส่วนการพัฒนาสถานีหัวลำโพงว่า ผู้ว่าการ รฟท.ยืนยันไม่มีการทุบหรือรื้อ เพราะเป็นสถานีประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า แต่จะหาแนวทางพัฒนาอย่างไรให้ยังคงเป็นสถานีรถไฟมีชีวิต ซึ่ง รฟท.ได้มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาเมื่อ 9 พ.ค.2554 - 5 ธ.ค.2554 วันนี้ รฟท.มอบหมายบริษัทลูก คือ เอสอาร์ทีแอสเสท จำกัด (SRAT) ศึกษาก็เป็นอีกความเห็น ซึ่งยังไม่มีการตกลงว่าจะใช้ แบบนี้
"เรื่องที่มีการระบุว่าจะเอาที่ไปให้เจ้าสัว เป็นจินตนาการใครไม่ทราบ หากมีการพูดความเท็จกันจะพิจารณาว่าเข้าข่ายประเด็นทางกฎหมายอย่างไรต่อไป"
นายอนันต์ โพธิ์นิมแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟท.ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า โครงการรถไฟสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบดำเนินการแล้ว ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต,ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) วงเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท การดำเนินการรูปแบบ PPP-Net Cost มี 3 แนวทางคือ 1.ให้เอกชนลงทุน 100%แต่ผลตอบแทน EIRR ต่ำมาก 2.รัฐลงทุนโยธา เอกชนลงทุนจัดหารถ เดินรถ ซ่อมบำรุง (O&M)และจัดเก็บรายได้ ค่า EIRR ต่ำกว่า 12% แนวทางที่ 3 รัฐลงทุนโยธาและจัดหารถ โดยเอกชนเดินรถซ่อมบำรุงทั้งตัวรถและโครงสร้างพื้นฐานด้วย จัดเก็บรายได้ แบ่งค่าสัมปทานและจ่ายค่าตัวรถให้รัฐ ค่า EIRR เหมาะสมที่สุด ภายใต้ระยะเวลา 50 ปี
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ