แบงก์อุ้ม ลูกหนี้ ลากยาวสิ้นปี65 คุมเอ็นพีแอลพุ่ง
Loading

แบงก์อุ้ม ลูกหนี้ ลากยาวสิ้นปี65 คุมเอ็นพีแอลพุ่ง

วันที่ : 24 พฤศจิกายน 2564
สถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารพาณิชย์จึงได้ออกมาตรการต่อเนื่อง ซึ่งเป็นมาตรการระยะที่ 3 เพื่อช่วยลูกหนี้ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปให้ได้
          แบงก์รัฐแบงก์พาณิชย์เดินหน้าช่วยหนี้ ล่าสุดออกมาตรการช่วยลูกหนี้เฟส 3 เพิ่มถึงสิ้นปีนี้ พร้อมต่อยอดการช่วยเหลือผ่านมาตรการเพิ่ม ยาวไปถึงปี 65  เครดิตบูโร ชี้หนี้เสียพุ่งต่อเนื่อง คาดมีโอกาสแตะ 1 ล้านล้านในปี65

          นายกิตดิ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ภายใต้ โควิด-19 ที่กระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภาระหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือหนี้บรรเทาความเดือดร้อน ลดผลกระทบที่มีต่อประชาชน สถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารพาณิชย์จึงได้ออกมาตรการต่อเนื่อง ซึ่งเป็นมาตรการระยะที่ 3 เพื่อช่วยลูกหนี้ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปให้ได้

          ด้านนายพงษ์ศักดิ์ คำนวนศิริ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานสินเชื่อ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า จากวิกฤติโควิด-19 มีลูกค้าส่วนหนึ่งของธนาคารได้รับผลกระทบ โดยหากดูการเข้าไปช่วยลูกหนี้ของธอส.ในช่วงเฟส 2 ที่ผ่านมา พบว่ามีลูกหนี้ที่ได้รับการ ช่วยเหลือ คิดเป็นเงินต้นอยู่ที่ 1.83 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากสิ้นสุดมาตรการเฟส2เมื่อต.ค.ที่ผ่านมา จนถึงพ.ย. พบว่ามีลูกหนี้ขอความช่วยเหลือต่อเนื่อง คิดเป็นเงินต้นที่ 1.13 แสนล้านบาท

          ดังนั้นในระยะข้างหน้า ธนาคารยังคงเดินหน้าในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง ผ่านมาตรการเฟส 3 โดยมาตรการที่จะออกมาในปี 2565 จะเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึง มาตรการอื่นๆเพื่อลดภาระดอกเบี้ยลูกหนี้

          ขณะที่ นายอิสระ วงศ์รุ่ง รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าบุคคล กล่าวว่ามาตรการที่ยังมีอยู่ เพื่อยังช่วยเหลือลูกค้าธนาคารต่อเนื่องถึงสิ้นปี 2564 ทั้งผ่านการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ที่จะมีถึง ธ.ค.นี้ รวมถึงมาตรการ ใหม่ๆที่จะทำเพิ่มเติม ทั้งผ่านการรวมหนี้ที่จะเพิ่มเติมเข้ามาในระยะข้างหน้า

          อุ้มลูกหนี้ต่อยาวถึงปี 65

          ด้านนายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ณ สิ้นก.ย. ที่ผ่านมา ธนาคารมีการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าธนาคารแล้ว 1.42 แสนล้านบาท ผ่านมาตรการทางการเงินที่ธนาคารได้ออกมาต่อเนื่อง ดังนั้นโจทย์คือทำอย่างไร ที่จะสามารถประคองลูกหนี้ ให้รอดพ้นจากวิกฤติต่อเนื่องไปถึงสิ้นปีนี้ และต่อเนื่องถึงปี 2565 ได้ เพราะหากธนาคารไม่ช่วยลูกหนี้ สุดท้ายลูกหนี้กลุ่มนี้ก็อาจกลับมาเป็นหนี้เสียของธนาคาร จนเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องในอนาคต

          นายอภิรัฐ เหล่าสินชัย ผู้จัดการศูนย์สินเชื่ออุปโภคบริโภค ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง เดิมจะครบกำหนดมาตรการช่วยเหลือสิ้นปีนี้ ดังนั้นปีหน้า ธนาคารอยู่ระหว่างการเตรียมความช่วยเหลือเพิ่มเติม สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป ดังนั้นลูกค้าธนาคารสามารถติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารได้ สำหรับมาตรการที่ช่วยเหลือลูกหนี้ปัจจุบัน ทั้งการปรับลด ค่างวด การพักหนี้เงินต้น การพักชำระค่างวด ฯลฯ

          "ปีหน้าความช่วยเหลือจะเข้มข้นขึ้น ลึกขึ้น แบงก์กรุงเทพ จะเน้นไปสู่การช่วยเหลืออย่างยั่งยืน เพื่อให้ลูกหนี้สบายใจว่าปรับโครงสร้างหนี้ ครั้งเดียวแต่ช่วยลูกหนี้ได้ในระยะยาว"

          นางสาวพัชรินทร์ สูงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อาวุโส ผู้บริหารสายงาน Retail lending product ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาโดยตลอดในระยะกว่า 1 ปีที่ผ่านมา โดยดูจากความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก ซึ่งธนาคารมองว่า หลังจากนี้ ยังเห็นการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงรวมหนี้ ที่ธนาคารอยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกมาตรการได้เร็วสุดปลายปีนี้ หรือต้นปี 2565

          นายสีห์โสภณ ตติยะวรนันท์ ผู้ช่วยสายงาน Retail lending ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ กล่าวว่า ธนาคารได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เช่นเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบโควิด โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย เช่น การพักชำระค่างวด การลดค่างวด การขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ ซึ่งสามารถสมัครเข้าโครงการได้ถึงสิ้นปีนี้

          หนี้เสียจ่อพุ่งแตะ1ล้านล้านในปี65

          นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า หากดูจากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า มีลูกหนี้ ที่อยู่ในฐานข้อมูลเครดิตมีถึง 12.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 31 ล้านลูกหนี้ โดยในนี้ คิดเป็น 27% ที่เป็นหนี้มาจากการอุปโภคบริโภค หรือหนี้ที่ กู้ไปเพื่อกินใช้ ดังนั้นในอนาคต น่ากังวลว่า หากเกิดอินคำช็อก ว่างงานขึ้น ลูกหนี้กลุ่มนี้น่าห่วง

          ส่วนหนี้เสีย บนข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่า ปัจจุบันหนี้เสียขึ้นมาอยู่ที่ 7.7% หรือคิดเป็นหนี้เสีย ราว 8.8 แสนล้านบาท แม้ลูกหนี้จะอยู่ในมาตรการช่วยเหลือ ขณะที่มีกลุ่มลูกหนี้ที่มีประวัติค้างชำระแต่ไม่เกิน 3 เดือนหรือ SM อยู่ที่ 2.5% ดังนั้นหากรวมทั้งสองกลุ่ม พบว่ามีหนี้ที่เสี่ยงสูงถึง 10%

          ขณะที่ ยอดลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ปัจจุบันอยู่ที่ 8.9 แสนล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มว่าในระยะข้างหน้าทั้งหนี้เสีย และหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้จะไปแตะระดับที่ 1ล้านล้านบาทได้ในปี 2565 หลังหมดมาตรการชะลอหนี้

          หนี้เสียไหลไม่หยุดมาตรการอุดไม่อยู่

          อย่างไรก็ตาม หากดูไส้ในของลูกหนี้ ที่เข้า โครงการการช่วยเหลือตามมาตรการตั้งแต่ เม.ย. 63 พบว่า เพิ่มมาอยู่ที่ 8.6 แสนคน ซึ่งในนี้ มีฐานะเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น 3.3 แสนคน หากเทียบกับ ก่อนโควิด จากการตกชั้นของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้มีมาตรการช่วยเหลือ เป็นระยะแต่มีต่อเนื่องไปถึงมาตรการระยะที่ 3 แต่ลูกหนี้ก็ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

          "หากดูการเกิดหนี้เสียในปัจจุบันพบว่า ลูกหนี้ อายุ 31 ปี พบว่าใน 100 คน ต้องเป็นหนี้เสีย 23.8 คน ที่เป็นเอ็นพีแอลแล้ว 1บัญชี อันนี้คือ ความน่ากลัว เพราะคนเหล่านี้เป็นกำลังและต้องขับเคลื่อนประเทศในระยะข้างหน้า ดังนั้น หากคนกลุ่มนี้ติดกับดักหนี้ อาจเป็นปัญหา ต่อเศรษฐกิจในระยะถัดไปได้"