ไฟเขียวลงทุนอีอีซี 2.2ล้านล้าน ต่อยอดเมืองการบิน-ดึงอุตฯBCG
Loading

ไฟเขียวลงทุนอีอีซี 2.2ล้านล้าน ต่อยอดเมืองการบิน-ดึงอุตฯBCG

วันที่ : 5 ตุลาคม 2564
ดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ดันจีดีพี โตแตะ 5%
          บอร์ดอีอีซีเคาะปรับแผนการลงทุนระยะ 2 ช่วง 5 ปี (2565-69) เป็น 2.2 ล้านล้านบาท หลังระยะแรก 1.7 ล้านล้านบาท บรรลุเป้าหมายเร็วกว่าที่กำหนด เล็งโฟกัส 3 ด้าน ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานจากเมืองการบินภาคตะวันออก ด้วยการพัฒนาพื้นที่ 30 กม.รอบสนามบิน และรถไฟความเร็วสูง ดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ภายใต้ BCG และยกระดับชุมชนและประชาชน หนุนจีดีพีโตปีละ 4.5-5% หวังไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วปี 2572

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยหลังการประชุม กพอ. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ผ่านการประชุมออนไลน์ วานนี้ (4 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมได้ปรับแผนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระยะที่ 2 ในช่วง 5 ปี (2565-2569) วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท มุ่งเน้นการลงทุนการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม วิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยแผนอีอีซีใน 5 ปีข้างหน้า จะทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้น 500,000 ล้านบาท ต่อปี จากเดิม 300,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นกลไกหลักช่วยผลักดัน การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โตได้ 4.5-5% ต่อปี และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 2572

          สำหรับวงเงินการลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กม.รอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง 2.ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การลงทุนในระดับฐานปกติ ปีละ 250,000 ล้านบาท และการลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) รวมปีละ 150,000 ล้านบาท และ 3.ยกระดับชุมชนและประชาชน

          ทั้งนี้ แผนการลงทุนระยะแรกอีอีซี ปี 2561-65 เดิมกำหนดลงทุนไว้ 1.7 ล้านล้านบาท แต่ขณะนี้ เกิดเงินลงทุนแล้ว 1,605,241 ล้านบาท หรือคิดเป็น 94% ของเป้าหมายรวม โดยคาดว่าสิ้นปี 2564 จะได้ตามเป้าที่วางไว้ จึงได้ปรับแผนใหม่ระยะที่ 2

          ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้รับทราบผลคัดเลือกเอกชน การเจรจา และร่างสัญญาร่วมทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ทำให้โครงสร้างพื้นฐานหลักอีอีซีครบ 4 โครงการ โดยจะได้มีการลงนามปลายเดือนนี้

          นายคณิศกล่าวว่า ที่ประชุม กพอ. ได้มอบหมายให้ สกพอ. จัดทำ (ร่าง) ประกาศสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขต ส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและที่มิใช่ภาษีอากร เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้นวัตกรรมขั้นสูง และเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะได้นำไปโรดโชว์ดึงการลงทุนในระยะข้างหน้าต่อไป

          พร้อมกันนี้ ได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในอีอีซี (พ.ศ.2566-2570) และแผนงานโครงการ ภายใต้แผนที่ สกพอ. จัดทำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด มะม่วง ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร และเกษตรมูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมียม โดยเห็นชอบให้ สกพอ. ศึกษาการจัดตั้งบริษัทเพื่อบริหารโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ร่วมทุนกับเอกชน ท้องถิ่น พัฒนาระบบห้องเย็น-โลจิสติกส์ทันสมัย ที่ สกพอ. จะเร่งสร้างโรงงานห้องเย็นให้ทันช่วงหน้าทุเรียนปี 2565 และจัดระบบสมาชิกชาวสวนผลไม้ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยโครงการ EFC จะสร้างรายได้ 20-30% มูลค่าประมาณ 10,000-15,000 ล้านต่อปี คืนสู่เกษตรกร
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ