คณิศ เร่งเครื่องดึงลงทุนเข้า อีอีซี หวังช่วยพลิกฟื้นจีดีพีไทยให้โต5%
Loading

คณิศ เร่งเครื่องดึงลงทุนเข้า อีอีซี หวังช่วยพลิกฟื้นจีดีพีไทยให้โต5%

วันที่ : 7 กันยายน 2564
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ในปลายปีนี้ อีอีซีจะเริ่มทำโรดโชว์ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก
          "คณิศ" กางแผนเร่งเครื่องการดึงลงทุน"อีอีซี" หวังสร้างการขับเคลื่อนการเติบโตของจีดีพีไทยให้โตเป็น 5% ในระยะข้างหน้าเพื่อทำให้ไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาได้ รับโควิด-19 ทำให้เปาหมายล่าช้า ย้ำอีอีซีเป็นโมเดลสำคัญในการดึงเอกชนลงทุนลดภาระรัฐ ไตรมาส 4 ปีนี้เร่งตอกเสาเข็มเมกะโปรเจกต์ อีอีซี สนามบินอู่ตะเภา-ไฮสปีดเทรน

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในการเสวนา EEC Future : เอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฟืนเศรษฐกิจไทย จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" เป้าหมายการลงทุนตามแผนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ในช่วงทำแผนที่ประเมินว่าจะมีมูลค่าการลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท ขณะนี้อนุมัติการลงทุนไปแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท ดังนั้นมูลค่าการลงทุนคงถึงเป้าก่อนกำหนด แต่ขณะเดียวกัน อีอีซีเดิมมีเป้าหมายจะกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) โตเป็น 5% จาก 3% เมื่อมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้จีดีพีไทยจะเติบโตเพียง 2% ดังนั้นอีอีซีจะต้องเร่งขับเคลื่อนในการลงทุนให้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ตามที่วางไว้

          "ผลกระทบโควิด-19 ช้ากว่าเป้าหมายไป 2 ปีเดิมเราประมาณการว่าในช่วงแต่ละปีหลังจากนี้ อีอีซีจะดึงเม็ดเงินลงทุนได้ 3-4 แสนล้านบาทต่อปี แต่เพื่อผลักดันจีดีพี ให้โต 5% เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาได้ในปี 2570 ดังนั้น อีอีซีต้องทำให้ได้มากกว่าเป้าหมายนี้ซึ่งยอมรับต้องเหนื่อยหน่อย ดังนั้น อีอีซีในระยะข้างหน้าต้องเพิ่มการลงทุนมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยแผนที่เราจะทำส่วนหนึ่งจะมาจากการสร้างเมือง เพื่อทำให้เม็ดเงินลงทุนที่ตอนนี้เรามีโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ได้มีการลงทุนจากบีโอไอ 8 แสนล้านบาทจะเพิ่มเข้ามาอีกปีละ 2 แสนล้านบาท" นายคณิศกล่าว

          ทั้งนี้ จากปัญหาโควิดทำการฐานทาง การคลังในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะมีภาระหนี้ค่อนข้างสูงดังนั้นการลงทุนของอีอีซีที่เน้นการดึงให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน พัฒนาแทนรัฐเพื่อลดภาระงบประมาณจึงเป็นโมเดลสำคัญในการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ไทยในระยะต่อไป  โดยขณะที่ความคืบหน้าของการพัฒนาอีอีซี ปัจจุบันได้ผลักดันในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว แผนขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงาน 2 เรื่องหลัก คือ การชักจูงนักลงทุน จะให้น้ำหนักมากขึ้น และการสร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ให้ประชาชน ยกระดับเมือง สร้างเมืองและสิ่งแวดล้อมของเมือง

          "แม้ว่าท่องเที่ยวยังไม่กลับมาจากผลกระทบของโควิด-19 แต่อีอีซีกำลังจะเติบโต ปีหน้าคาดว่าอีอีซีจะขยายตัวนำจีดีพีประเทศ โดยจะมาจากการกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดขึ้น เช่น ศูนย์การแพทย์ เทคโนโลยี 5G ที่ตอนนี้ใช้ได้ 100% ดังนั้น แกนนำอุตสาหกรรมป้าหมาย จะเพิ่มมูลค่าการลงทุนได้อีก รวมไปถึงการทำคลัสเตอร์เกษตร และการพัฒนาเมืองร่วมกับจังหวัด" นายคณิศกล่าว

          สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ในปลายปีนี้ อีอีซีจะเริ่มทำโรดโชว์ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก รวมทั้งจะเปิดหน้าดินให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานเริ่มงานก่อสร้าง โดยสัญญาว่าภายในปีนี้จะเริ่มเห็นการเปิดหน้าดินเป็นเรื่องราวทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และสนามบินอู่ตะเภา อย่างไรก็ตามระยะต่อไปจำเป็นต้องมองการเชื่อมโยงกับจีนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และมองการเชื่อมไปยังอินเดียโดยการลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC ด้วย
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ