ที่ดินพุ่งบิ๊กทุนขยับรับอู่ตะเภาตอกเข็มต้นปี 65
วันที่ : 5 กันยายน 2564
ราคาที่ดินพุ่ง - บิ๊กทุนขยับโควิดคลี่คลาย ปี2565 บีทีเอส นำทีมลุยตอกเข็มเมืองการบิน-สนามบินอู่ตะเภา หลังรัฐส่งมอบพ้นที่ 6,000 ไร่
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งรัฐขับเคลื่อนโครง การขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตอีอีซี อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเชื่อม สนามบินอู่ตะเภา และมหานครการบินภาคตะวันออก ให้เป็นจุดหมายปลายทางนักลงทุนนักท่องเที่ยวนักเดินทางเข้าพื้นที่
ทั้งนี้ในส่วนของ การพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ราวต้นปีหน้า (ปี 2565) หลังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ส่งมอบพื้นที่ ให้กับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA แล้ว บริษัทจะเริ่มลงมือก่อสร้างเมืองการบินและสนามบินอู่ตะเภา บนพื้นที่รวม กว่า6,000 ไร่ ขณะปัจจุบัน ได้สำรวจดิน ทำรั้วกั้นแนวเขตพื้นที่โดยรอบแล้วเสร็จ
สำหรับสถานการณ์การระบาดโควิดอาจมีเป็นปัญหาอุปสรรค แต่เชื่อว่าปีหน้าคาดว่าจะเบาบาง โดยบริษัทมีเป้าหมาย พัฒนาเมืองการบิน ให้เป็น สมาร์ทซิตี้ รองรับนักท่องเที่ยวนักลงทุน ที่จะเข้ามาในปี 2568 หลังก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง
โดยความน่าสนใจของโครงการนี้อยู่ที่ตัวอาคารผู้โดยสาร ที่ออกแบบโดย สถาปนิกชั้นนำระดับโลก อย่าง SOM นอกจากนี้ในส่วนของเมืองการบินอู่ตะเภา ได้บริษัทด้านการออกแบบชั้นนำของประเทศไทย เป็นผู้ออกแบบ
การพัฒนาจะ เป็นรูปแบบมิกซ์ยูส จุดศูนย์รวมทั้งที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล ศูนย์การค้า ศูนย์การประชุมสัมนา ออฟฟิศ รวมทั้งสถานีไฮสปีด เชื่อมต่อการเดินทางจากสนามบินอู่ตะเภา สู่สนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง
เรียกได้ว่า อู่ตะเภา จะกลายเป็นเมืองใหม่ที่ทันสมัยที่สุด ในประวัติศาสตร์ของการสร้างเมืองของประเทศไทยและเมืองระดับโลกเลยก็ว่าได้
ขณะเดียวกันนายสุรพงษ์ ระบุว่า คณะกรรมการ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA มีมติประกาศแต่งตั้ง นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนแรกของบริษัทฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป โดยเน้นภารกิจสำคัญในการบริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation (โลจิสติกส์ และการบิน) รวมถึงเป็นศูนย์กลางของมหานครการบินภาคตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ต่อเนื่องไปทางภาคตะวันออกได้อย่างสะดวกสบายทันสมัย ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
ขณะราคาที่ดินต้องยอมรับว่าหากมีโครงการขนาดใหม่เกิดขึ้นราคาที่ดินพื้นที่โดยรอบมักปรับตัวสูง
นายเปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ระยอง ตั้งแต่ 5-6 ปีก่อน แต่ปัจจุบันอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ราคาที่ดินทรงตัวแต่ไม่ปรับตัวลดลงแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ยังเงียบ อาจเป็นเพราะติดปัญหาการระบาดของไวรัส
สำหรับราคาที่ดินมองว่า ทรงตัว เพราะขยับขึ้นมาหลายรอบ นับตั้งแต่มีนโยบายพัฒนาอีอีซี โดยทำเลติดถนนสายหลักอย่างสุขุมวิท อำเภอบ้านฉาง ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20 ล้านบาทต่อไร่ จาก 5-6 ปีก่อน ราคา 3-5 ล้านบาทต่อไร่ ในซอย 3-4 ล้านบาทต่อไร่ ก่อนหน้านี้ราคา ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อไร่
ขณะเดียวกันขณะนี้เริ่มมีบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่จากส่วนกลางเข้าพื้นที่ จังหวัดระยองมากขึ้น เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพราะไตรมาส 4 ของปี 2564 เป็นต้นไป เริ่มเห็นสัญญาณโควิดคลี่คลาย การฉีดวัคซีนกระจายมากขึ้น และปี 2565 รัฐบาลมีแผนซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้นอีกทั้งโครงการขนาดใหญ่ในอีอีซีขยับ ทำให้เกิดความคึกคักขึ้นได้บ้าง
"อู่ตะเภา จะกลายเป็นเมืองใหม่ที่ทันสมัยที่สุดในประวัติศาสตร์ของการสร้างเมือง"
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ