มูลนิธิคนรักเมืองมีนชง การจัดรูปที่ดิน สร้างคลองระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันออก
Loading

มูลนิธิคนรักเมืองมีนชง การจัดรูปที่ดิน สร้างคลองระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันออก

วันที่ : 29 สิงหาคม 2564
มูลนิธิคนรักเมืองมีน นำเสนอโมเดล การ จัดรูปที่ดิน ตั้งกองทุนดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันกำหนดทางออกแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำหลาก ในพื้นที่ฝั่งตะวันออก 6 เขตของกรุงเทพมหานคร ในรูปแบบ PPPแทนการเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างคลองระบายน้ำขนาดใหญ่และแก้มลิง

   

         นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานมูลนิธิคนรักเมืองมีน และประธานคณะกรรมการศึกษาการพัฒนาเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร  กล่าวว่า ภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีชมพู  คณะกรรมการฯ ได้ทำการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำหลาก พื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ 6 เขต มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เพื่อเสนอแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำหลาก ในพื้นที่ฝั่งตะวันออก 6 เขตของกรุงเทพมหานคร และในวันนี้ (29 สิงหาคม 2564) ได้นำผลการศึกษามานำเสนอต่อประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปปรับปรุงผลการศึกษาตามความต้องการของประชาชนต่อไป

        ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรุงเทพมหานครได้จัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่ฉบับที่ 1 ปี 2535 ฉบับที่ 2 ปี 2542 ฉบับที่ 3 ปี 2549 และฉบับที่ 4 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันปี 2556  อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2564 นี้ ได้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ฝั่งตะวันออก 6 เขต ได้แก่ เขตคลองสามวา เขตคันนายาว เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตสะพานสูง และเขตหนองจอก ให้เป็นพื้นที่สีขาวทแยงสีเขียว หรือเป็นพื้นที่ฟลัดเวย์รองรับน้ำหลากจากทางตอนเหนือ เป็นระยะเวลายาวนานเกือบ 30 ปี โดยในพื้นที่นี้ยัง "ไม่มี"การบริหารจัดการหรือการพัฒนาแนวเส้นทางการระบายน้ำจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ อย่างเป็นรูปธรรม 


         ในขณะที่ความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกนี้มีการเติบโตและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จากการที่มีพื้นที่รวมกันมากกว่า 300,000 ไร่ มีขนาดใหญ่คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( EEC) ตั้งอยู่ใกล้สนามบิน สุวรรณภูมิ และกำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2565 และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี) ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2567 รวมทั้งยังมีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต  ลิงค์ ซึ่งจะปรับรูปแบบเป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เชื่อมโยงสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา


         จากสภาพแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น ได้ผลักดันให้พื้นที่ 6 เขตฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ  มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ของกรุงเทพฯ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้ม จะทำให้พื้นที่ 6 เขตฝั่งตะวันออก ทำให้การเดินทางเชื่อมโยงกับพื้นที่ฝั่งตะวันตกและกรุงเทพฯ ชั้นใน มายังฝั่งตะวันออกได้รวดเร็วขึ้น จึงทำให้มีการคาดการณ์กันว่า จะมีประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ฝั่งตะวันออกทั้ง 6 เขตนี้เพิ่มมากขึ้นจาก 500,000 คน เป็น 1,000,000 คนในระยะเวลาอันใกล้นี้ และจะมีผู้ที่สนใจเข้ามาพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีการลงทุนทำธุรกิจการค้า และสร้างแหล่งงานรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
 

          นางสาวเพชรลัดดา เพ็ชรภักดี นักวิชาการด้านการวางแผนผังเมือง และพัฒนาเมือง กล่าวถึงผลการศึกษาและการพัฒนาเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ว่า   คณะกรรมการฯ ได้ทำการสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 6 เขต จากกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากถึง 3,000 ราย และผู้นำชุมชนอีกกว่า 100 ราย ซึ่งผลการสำรวจความต้องการของประชาชนกว่า 70% พบว่า ไม่ต้องการให้พื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ฟลัดเวย์อีกต่อไปจึงได้ทำการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำหลากจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ 


          หากเป็นน้ำท่วมคาบ 100 ปี จะมีปริมาณน้ำประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลากมายังพื้นที่ฝั่งตะวันออก และบางส่วนจะท่วมเข้าไปยังกรุงเทพฯ ชั้นใน (ภายในคันกั้นน้ำพระราชดำริ) สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท ดังเช่นปี 2529 หรือ 2554 ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเสนอให้มีการสร้างคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ความกว้าง 300 เมตร เพื่อระบายน้ำอย่างรวดเร็วในรูปแบบ Water highway จากปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ลงไปยังอ่าวไทย ซึ่งคลองนี้ ควรระบายน้ำได้ถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็นอย่างน้อย ประโยชน์ของคลองขนาดใหญ่นี้ ในยามฤดูน้ำหลากจะสามารถระบายน้ำอย่างรวดเร็วลงทะเลอ่าวไทย ในฤดูน้ำแล้ง สามารถนำน้ำที่เก็บกักไว้ ไปช่วยไล่น้ำเค็มในการผลิตน้ำประปาได้ หรือนำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรได้


           นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังได้ออกแบบแนวคันคลอง กว้างออกไปข้างละ 100 เมตร เพื่อให้เป็นที่ลุ่มรับน้ำกรณีน้ำหลากเพิ่มมากขึ้น แต่ในช่วงฤดูแล้ง สามารถใช้เป็นคันคลองเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ การแข่งขันกีฬาทางน้ำ หรือใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร และถัดจากแนวคันคลองทั้งสองฝั่ง ได้ออกแบบให้เป็นถนนกว้าง 6 เลน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าหรือการเดินทางอย่างรวดเร็วจากทางตอนเหนือลงใต้ จะเห็นได้ว่า การจัดทำคลองขนาดใหญ่ พร้อมกับแนวคันคลอง และถนน 6 เลน ตามที่คณะกรรมการฯ นำเสนอนี้ จะทำให้พื้นที่ฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ได้ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ระบายน้ำท่วม และน้ำหลากได้อย่างแท้จริง 


           โดยคณะกรรมการฯ นำเสนอให้มีการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ระยะแรก เสนอให้เจ้าของที่ดินในแนว ฟลัดเวย์ ที่มีขนาดตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป มีการขุดบ่อหน่วงน้ำ หรือ แก้มลิง อย่างน้อย 10% ของพื้นที่ เพื่อช่วยรองรับน้ำในช่วงฝนตกหนัก ก่อนจะระบายไปยังคลองสาธารณะ และในระยะต่อไป เป็นการดำเนินการจัดรูปที่ดิน โดยความร่วมมือของประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และนักลงทุนเพื่อดำเนินการขุดคลองขนาดใหญ่ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นในรูปแบบของ Public Private (and People)Partnerships (PPP) โดยมีการแบ่งผลประโยชน์ให้กับเจ้าของที่ดินที่  ลดข้อจำกัดด้านงบประมาณของภาครัฐ ทำให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  


           คณะกรรมการฯจึงได้นำเสนอโมเดล การ "จัดรูปที่ดิน" ( Land Readjustment) โดยใช้งบประมาณจากการอุดหนุนของภาครัฐและตั้งกองทุนให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันกำหนดแนวทางกาดำเนินการ  โดยมีเอกชนเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ  เพราะหากใช้วิธีเวนคืนต้องใช้งบประมาณสูงและประชนไม่มีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจ อย่างไรก็ตามหลังจากสอบถามความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ 6 เขตในวันนี้( 29 ส.ค. 2564 )หากแนวคิดการดำเนินการขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ดังกล่าวข้างต้น ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่มากพอสมควร คณะกรรมการฯ จะนำเสนอแนวความคิดนี้ให้กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการผลักดันให้มีผลในการดำเนินการเป็นรูปธรรมต่อไป

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ