ปี70นั่งรถไฟฟ้าหลากสียาว554กม.
Loading

ปี70นั่งรถไฟฟ้าหลากสียาว554กม.

วันที่ : 6 สิงหาคม 2564
กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 70 จะมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการประชาชนครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งสิ้น 554 กิโลเมตร (กม.)
          กรมราง-ไจก้า เขย่าแผนแม่บท12เส้น เคาะM-MAP2เน้นจำเป็นลดซ้ำซ้อน

          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม กำลังเร่งรัดผลักดันการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เป็นทางเลือกในการเดินทาง ให้ประชาชนได้รับบริการที่เป็นประโยชน์ สะดวกสบาย รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยกระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 70 จะมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการประชาชนครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งสิ้น 554 กิโลเมตร (กม.)

          รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2  หรือ M-MAP 2 โดยร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) เพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการเดินทางสูงแต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง

          ขร. ต้องนำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ปี 53-72) หรือแผนแม่บทฉบับที่1 มาทบทวนใหม่ โดยจะพิจารณาเส้นทางที่มีความจำเป็นจริง ๆ เพื่อให้สอดรับกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา และแนวคิดการวางผังเมืองในอนาคตด้วย จึงต้องจัดลำดับความสำคัญเส้นทางของรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องพิจารณาว่าเส้นทางตามแผนแม่บทฯ ยังมีความจำเป็นหรือไม่ จะต้องตัดออกหรือยังคงไว้เหมือนเดิม หรือต้องเพิ่มเส้นทางใดเข้ามาใหม่หรือไม่ เพื่อให้ทุกเส้นทางมีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ลดความซ้ำซ้อน และช่วยลดงบประมาณการลงทุนในโครงข่ายที่ไม่มีความจำเป็น ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 ปี โดยเส้นทางที่ศึกษาใหม่จะไม่กระทบกับแผนเปิดบริการในปี 70 ที่ต้องให้ครบ 554 กม.

          รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับแผน แม่บทฯ ประกอบด้วย 12 สาย ได้แก่ 1.สายสีแดง ธรรมศาสตร์-บางซื่อ-หัวลำโพง-มหาชัย 2.สายสีแดงอ่อน ศาลายา-ตลิ่งชัน-บางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก 3.แอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ 4.สายสีเขียว ลำลูกกา-หมอชิต-สมุทรปราการ-บางปู 5.สายสีเขียวอ่อน ยศเส-บางหว้า 6.สายสีน้ำเงิน ท่าพระ-บางซื่อ-หัวลำโพงบางแค-พุทธมณฑลสาย 7 7.สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ-ราษฎร์ บูรณะ 8.สายสีส้ม ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางกะปิมีนบุรี 9.สายสีชมพู แคราย-ปากเกร็ดมีนบุรี 10.สายสีเหลือง ลาดพร้าว- พัฒนาการ-สำโรง 11.สายสีเทา วัชรพล- พระราม 4-สะพานพระราม 9 และ 12.สายสีฟ้า ดินแดง-มักกะสัน-สาทร

          รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว 8 สี 11 เส้นทาง ระยะทางรวม 211.94 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 เส้นทาง 112.20 กม. ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม., สายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม., สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.40 กม., สายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.50 กม. และแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง 21.80 กม.

          นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างประกวดราคา 2 เส้นทาง ระยะทางรวม 37 กม. ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์ วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์ บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) 23.6 กม. พร้อมกันนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 71.49 กม. ได้แก่ สายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต- ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม., ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม., ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม., ช่วงบางซื่อ- หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม., ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 20.14 กม. และสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.25 กม.
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ