คมนาคมเดินหน้าเต็มสูบ
Loading

คมนาคมเดินหน้าเต็มสูบ

วันที่ : 26 มิถุนายน 2564
สร้างส่วนต่อขยายสายสีแดง 4 ทิศทางรอบกรุง
         
          "ศักดิ์สยาม" ยันเดินหน้าสร้างส่วนต่อขยายรถไฟชานเมือง สายสีแดง 4 ทิศทางรอบกรุงเทพฯไปปริมณฑล พร้อมปรับรูปแบบการร่วมลงทุนจาก พีพีพี มาเป็นประกวดราคาทั่วไป มั่นใจเปิดประกวดราคาได้สิ้นปี 64 นี้ ก่อนได้ผู้รับจ้างต้นปี 65 สร้างแล้วเสร็จปี 68 พร้อมได้ข้อสรุปรถไฟไทย-จีน ช่วงเส้นทางทับซ้อนกับรถไฟเชื่อม 3 สนามบินช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง สรุปให้ ซีพีสร้าง

          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมเปิดเผยภายหลังอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามาหารือถึงแนวทางการพัฒนาก่อสร้าง โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมือง สายสีแดงเข้มช่วง รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตว่าทางกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนที่จะก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีแดงเพิ่มเติมทั้ง 4 ส่วนต่อขยาย 4 ทิศทางรอบกรุงเทพฯ ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) วงเงินโครงการ 6,570 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา) วงเงิน 10,200 ล้านบาท 3.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช) วงเงิน 6,640 ล้านบาท และ 4.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก) วงเงิน 44,100 ล้านบาท เบื้องต้นได้ให้นโยบาย รฟท. ปรับแผนการก่อสร้างในโครงการใหม่ แยกการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานออกมาประกวดราคาจากเดิม รฟท.จะเปิดลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ซึ่งจะทำให้ รฟท. สามารถเปิดประกวดราคาก่อสร้างได้ภายในสิ้นปี 64 นี้ คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างในต้นปี 65 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 68

          ทั้งนี้ ในระหว่างการก่อสร้าง รฟท. จะได้จัดรถไฟดีเซลรางเดินรถเชื่อมต่อระหว่างสถานีรังสิตไปถึงสถานีเชียงรากน้อย เพื่อรองรับการเดินทางไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตไปก่อน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ช่วงเดือน ธ.ค.นี้ นอกจากนั้นกรมทางหลวง (ทล.) ได้พิจารณาปรับปรุงโครงข่ายถนนบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเบื้องต้นแล้ว และเพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายถนนและการคมนาคมบริเวณพื้นที่รังสิตเป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในภาพรวม โดยได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม บริเวณพื้นที่รังสิต เพื่อผลักดันการดำเนินการไปสู่เป้าหมายต่อไป

          นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถเพื่อรองรับพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เนื่องจากมีนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากมาใช้บริการของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล

          ขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แสดงความสนใจที่จะร่วมพัฒนาพื้นที่กับกระทรวงคมนาคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนา Transit Oriented Development ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักะงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร พิจารณายกร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายในรายละเอียด เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

          นายศักดิ์สยาม ยังได้กล่าวต่อถึงความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ว่าฝ่ายไทยได้แจ้งความก้าวหน้างานโยธาระยะแรกสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งงานโยธาส่วนใหญ่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ฝ่ายไทยได้ข้อสรุปสำหรับงานออกแบบรายละเอียดแล้ว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการเชื่อมทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ โดยฝ่ายไทยเสนอให้มีการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป.ลาวและจีนเพื่อหารือเกี่ยวกับเส้นทางการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือกับฝ่ายลาวเพื่อผลักดันให้มีการประชุมระดับคณะทำงานสามฝ่าย และจัดการประชุมทุกเดือนเพื่อให้มีความคืบหน้าในการเชื่อมโยงต่อไป

          นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึงช่วงทับซ้อนของการก่อสร้างระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กับโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งช่วงดังกล่าวจะต้องมีการใช้ทางวิ่งและโครงสร้างร่วมกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะปรับงานออกแบบ ส่วนการก่อสร้างในส่วนที่ทับซ้อน จะให้เป็นความรับผิดชอบของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร กลุ่ม CP ที่สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน.
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ