ครม.เคาะงบกลาง 568 ล้าน เวนคืนสร้างรถไฟ 3 สนามบิน
วันที่ : 2 มิถุนายน 2564
ครม.อนุมัติงบกลาง 568 ล้านบาท ให้การรถไฟฯ เวนคืนที่ดินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เร่งเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างก่อนส่งมอบกลุ่มซีพี
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (1 มิ.ย. 2564) ได้มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 568 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเวนคืนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ
สำหรับวงเงินที่ ครม.อนุมัติ สืบเนื่องจาก มติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ได้รับทราบการขยายกรอบวงเงินค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินฯ จากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เป็นไม่เกิน 5,740 ล้านบาท จากเดิม 3,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,170 ล้านบาท ซึ่งในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ให้ รฟท.ขอจัดสรรงบประมาณ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.จำนวน 580 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากงบกลางฯ ปีงบประมาณ 2564 ส่วนที่เหลือให้ สกพอ.โอนจากงบบูรณาการภายใต้แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ 2.จำนวน 1,562 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณ ปี 2565
ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นการพัฒนาพื้นที่โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์เดิม ช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยาย ช่วงท่าอากาศยานดอนเมืองถึงพญาไท จำนวน 10 สถานี และโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ ถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา จำนวน 5 สถานี รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง เชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ดำเนินกิจการ และบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้รับความเสี่ยงเกี่ยวกับรายได้ค่าโดยสารและปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการทั้งหมด คาดว่าในปีที่เปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสารประมาณ 1.47 แสนคนต่อวัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้รับงานโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ คือ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (ปัจจุบัน คือ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด) ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, China Railway Construction Corporation Limited, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยตามสัญญาแล้ว รฟท.จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับงานทั้งหมดภายในเดือนตุลาคม 2564
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ