7หมื่นกว่าล้านค่าสร้างรถไฟฟ้าม่วงใต้
Loading

7หมื่นกว่าล้านค่าสร้างรถไฟฟ้าม่วงใต้

วันที่ : 2 มิถุนายน 2564
เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ประมูล6สัญญา - รัฐบาลสั่งลุยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
       
          รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 1.01 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT ได้กำหนดราคากลางโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งสัญญางานก่อสร้างโยธาเป็น 6 สัญญา วงเงินกว่า 7 หมื่นล้าน ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ

          สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า, สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ, สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง, สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่ง และสถานียกระดับช่วงดาวคะนอง-ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park&Ride) และสัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ และอาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard)

          กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้ รฟม.เปิดประกวดราคา(ประมูล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ โดยเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล และยังรองรับให้ทันกับการเดินทางของประชาชนที่จะกลับเข้า สู่สภาวะปกติหลังการแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง รฟม. จึงได้เร่งรัดการจัดทำราคากลาง ให้สามารถเปิดประมูลได้รวดเร็วขึ้นจากแผนเดิมที่วางไว้ว่าจะเปิดประมูลในเดือน ก.ย. 64 เป็นประมาณภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 64 ได้บริษัทผู้ชนะประมูลภายในปี 64 เริ่มก่อสร้างต้นปี 65 และเปิดบริการภายในปี 70

          รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งด้วยอีกว่า การเปิดประมูลโครงการครั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กำชับให้ รฟม. ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เน้นความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ซึ่งเรื่องนี้ รฟม. ตระหนักดี โดยก่อนหน้านี้ได้ทำพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรมร่วมกับผู้สังเกตการณ์ จากหน่วยงานต่าง ๆ โดยผู้สังเกตการณ์จะเข้าร่วมทุกขั้นตอนของกระบวนการคัดเลือกฯ อาทิ การจัดทำร่างขอบเขตโครงการ (ทีโออาร์), ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา และตรวจรับงานตามสัญญาร่วมทุน

          นอกจากนี้ รฟม. ต้องรายงานความคืบหน้า และเปิดเผยข้อมูลของโครงการให้ผู้สังเกตการณ์รับทราบด้วย ทั้งนี้ภายหลังจากได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการประมูล  และมีบริษัทเอกชนเข้าร่วมเสนอราคาแล้ว จะให้ผู้เสนอราคาร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงคุณธรรมต่อไป.
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ