สอท.หนุนตั้งใหม่เขตศก.พิเศษ ดึง อีอีซีโมเดล กระจายทุกภาค 
Loading

สอท.หนุนตั้งใหม่เขตศก.พิเศษ ดึง อีอีซีโมเดล กระจายทุกภาค 

วันที่ : 28 พฤษภาคม 2564
ส.อ.ท. เดินหน้า ผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่อีก 4 แห่ง ใน 4 ภาค
          วัชร ปุษยะนาวิน

          กรุงเทพธุรกิจ


          ความสำเร็จจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซี่งมีกรอบการพัฒนาและแนวทางขับเคลื่อนที่ชัดเจนเพื่อเป็นแกนหลักการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในโลกการค้าและการลงทุนในอนาคตอันใกล้ จึงมีแนวคิดว่าการขยายแนวทางพัฒนาแบบอีอีซี หรือ อีอีอีซีโมเดล ออกไป ในระดับภูมิภาคทั่วประเทศน่าจะเป็นเรื่องที่ดี

          สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่โครงการอีอีซี ได้เดินหน้า มาแล้ว 3 ปี และประสบความสำเร็จสูง รัฐบาล จึงได้นำ อีอีซี ไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยล่าสุด จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/25641 เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ผลักดันโครงการ เขตเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่อีก 4 แห่ง ใน 4 ภาค   ได้แก่ 4 ภาค ได้แก่

          1. พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (เอ็นอีซี) ประกอบด้วย จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง

          2. พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เอ็นอีอีซี) ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย 3. พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง- ตะวันตก (ซีดับเบิลยูอีซี) ประกอบด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี และ4. พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) ประกอบด้วย จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

          "ภาคเอกชนสนับสนุนนโยบายนี้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นการกระจายความเจริญ และขยายฐาน อุตสาหกรรมไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพ ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ และลดความเหลือมล้ำของไทยได้"

          นอกจากนี้ ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน 4 คณะ ขึ้นมาขับเคลื่อน ได้แก่

          1. คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ มีหน้าที่ กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นเขต เศรษฐกิจพิเศษและการกำหนดสิทธิประโยชน์ดึงดูดการลงทุนให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และ จัดทำแผนพัฒนาระบบศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ  

         2.คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีหน้าที่กำหนดแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่ ปรับปรุงด่านศุลกากร และจัดการบริเวณด่านพรมแดน และพิจารณา ความเหมาะสมในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค

          3. คณะอนุกรรมการด้านการตลาด และ ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะทางการตลาดที่สนับสนุนการพัฒนา เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ เชิญชวนนักลงทุน จัดทำข้อมูล และคู่มือสำหรับนักลงทุน

          4. คณะทำงานสรรหา คัดเลือก เจรจา และ กำกับติดตามการดำเนินการของผู้ลงทุนในที่ดิน ราชพัสดุที่กำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษ มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการเช่าและขั้นตอนการคัดเลือก  และเจรจาต่อรองต่อผู้เสนอการลงทุน ตรวจสอบและคัดเลือกผู้เสนอการลงทุน รวมทั้งการกำกับติดตามการดำเนินงาน

          "ในทั้ง 4 คณะอนุกรรมการนี้ รัฐบาลได้เปิดให้ภาคเอกชนในนามของคณะกรรมการ ร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แต่งตั้งผู้แทน เข้าร่วมใน 3 คณะแรก ทำให้ภาคเอกชนเข้าไป  มีส่วนร่วมในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้ออกแบบพื้นที่ และ กำหนดสิทธิประโยชน์ให้ตรงกับความต้องการ ของนักลงทุนได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้ทั้ง 4 เขต เศรษฐกิจพิเศษนี้ประสบผลสำเร็จได้เร็ว"

          อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีขนาดใหญ่จำเป็น อย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจาก ทุกกระทรวง และหน่วยงานรัฐทั้งหมด จึงจะ ขับเคลื่อนไปได้ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องใช้ความเข้มแข็งและเด็ดขาดในการตัดสินใจ จึงจะประสบผลสำเร็จ

          นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง ขณะนี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กำลังศึกษาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เป้าหมายการพัฒนา แนวทางการ ขับเคลื่อน และวิธีการบริหารจัดการแต่ละแห่ง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ บีโอไอจะนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับศักยภาพและอุตสาหกรรมเป้าหมายในแต่ละพื้นที่

          โดยจะส่งเสริมการลงทุนในลักษณะคลัสเตอร์ เพื่อจูงใจผู้ประกอบการทั้งไทยและ ต่างชาติให้เข้ามาลงทุนและช่วยพัฒนาพื้นที่ เหล่านี้ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) อาจจะเน้นให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์และธุรกิจดิจิทัล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) เน้นเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร ขณะที่ภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) อาจเน้นด้านอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยง กับกรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่อีอีซี ส่วนภาคใต้ (SEC) อาจเน้นการแปรรูปสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน

          บีโอไอ มั่นใจว่าการส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 แห่ง จะไม่กระทบกับการ ดึงการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เพราะศักยภาพของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ในทางตรงกันข้าม จะเสริมซึ่งกันและกันด้วยซ้ำ โดยพื้นที่เหล่านี้ จะเป็นฐานการผลิตสินค้าประเภทที่เสริมกับ โรงงานในอีอีซี เช่น วัตถุดิบต้นน้ำ บรรจุภัณฑ์ ต่างๆ และธุรกิจโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่อง

          ในรูปแบบนี้จะทำให้ supply chain โดยรวมเข้มแข็งขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 แห่ง จะช่วยให้เกิด การกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง สร้างงาน สร้างรายได้ และส่งเสริมให้เกิด Hub ด้านต่างๆ ในหลายพื้นที่ ไม่มากระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และอีอีซีเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ด้วย

          ทั้งนี้ เมื่อมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายและ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว สภาพัฒน์ฯ บีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงต้องร่วมกัน วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค นิคม อุตสาหกรรม ศูนย์กระจายสินค้า การดูแล สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ไปจนถึงการเตรียมบุคลากรและการ มีส่วนร่วมของคนในพื้นที่

          เอกชนสนับสนุนเต็มที่ เพราะเป็นการกระจายความเจริญ  และขยายฐานอุตฯไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพทั่วประเทศ สุพันธุ์ มงคลสุธี
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ