อัพเกรดใหม่MRTสายสีน้ำเงิน
Loading

อัพเกรดใหม่MRTสายสีน้ำเงิน

วันที่ : 12 พฤษภาคม 2564
ทยอยบริการ19ขบวนเสร็จสิงหานี้ - โควิด3ผู้โดยสารเหลือวันละ5หมื่น
     
          นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT อยู่ระหว่างปรับปรุงยกเครื่องขบวนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 19 ขบวน ซึ่งเป็นขบวนที่ใช้งานมาตั้งแต่ปี 47 หรือประมาณ 17 ปีแล้ว เพื่อให้มีความทันสมัย สวยงาม สะดวกต่อการ ใช้งาน เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้โดยสารมากขึ้น และมีคุณลักษณะเดียวกับขบวนรถที่นำเข้ามาใหม่ทั้ง 35 ขบวน

          นายวิทยา กล่าวต่อว่า การปรับปรุงขบวนรถไฟฟ้าครั้งนี้ ได้ทำสีภายในขบวนรถใหม่ เพิ่มเสาราวจับแบบ 3 ก้าน และเพิ่มห่วงจับเป็น 3 แถวให้รองรับการใช้งานของผู้โดยสารมากขึ้น นอกจากนี้ยังเปลี่ยนป้ายที่แสดงเส้นทางรถไฟฟ้า จุดเชื่อมต่อ สถานีต่อไป สถานีปัจจุบัน และทิศทางการเดินรถที่อยู่เหนือประตูภายในขบวนรถ จากเดิมเป็นแผ่นป้ายกระดาษธรรมดา เปลี่ยนเป็นจอแสดงเส้นทางภายในขบวนรถไฟฟ้า หรือ Dynamic Route Map Display (DRMD) แบบดิจิทัล

          ขณะเดียวกันยังได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ตลอดทั้งขบวนรถ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้โดยสาร ซึ่ง เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าสามารถตรวจสอบภาพจากกล้องได้แบบเรียลไทม์ และเมื่อกดปุ่มสื่อสาร (Intercom) ภายในขบวนรถ กล้องที่อยู่ใกล้กับจุดนั้นมากที่สุดจะแสดงภาพไปยังห้องควบคุมรถทันที พร้อมกันนี้ยังเพิ่ม ไฟส่องสว่าง บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างขบวนรถ เพื่อให้มีความสม่ำเสมอของแสงสว่างในขบวนรถ เพิ่มการมองเห็นทิศทางในการเดิน และยืนของผู้โดยสารในขบวนรถให้สะดวกมากขึ้น

          นายวิทยา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ขบวนรถที่ปรับปรุงเสร็จเริ่มทยอยนำมาให้บริการแล้ว โดยทั้ง 19 ขบวน จะ แล้วเสร็จทั้งหมดในเดือน ส.ค. 64 จะให้บริการเดินรถผสมกับขบวนรถใหม่ ซึ่งจะบริหารการเดินรถให้มีระยะใช้งานใกล้เคียงกัน ทั้งนี้สำหรับภายนอกขบวนรถ ไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงยังใช้โครงสร้างเดิม แต่เมื่อก้าวเข้ามาภายในรถจะสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงเหมือนได้นั่งขบวนรถใหม่

          นายวิทยา กล่าวด้วยว่า แม้จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 3 แต่รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ยังเดินรถให้บริการประชาชนตามปกติ ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารลดลงมาก วันธรรมดาเหลือวันละ 1-1.3 แสนคน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เหลือประมาณวันละ 5 หมื่นคน จากปกติ อยู่ที่ประมาณวันละ 5 แสนคน แต่ยังลดน้อยลงกว่าช่วงเกิด โควิด-19 รอบแรกในเดือน เม.ย. 63 ผู้โดยสารวันธรรมดาลดลงเหลือประมาณวันละ 8 หมื่นคน
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ