แจกคนละครึ่งเฟส3-รายละ3พัน เราชนะ-ม33 ให้เงินอีก
Loading

แจกคนละครึ่งเฟส3-รายละ3พัน เราชนะ-ม33 ให้เงินอีก

วันที่ : 6 พฤษภาคม 2564
ปล่อยกู้ฉกเฉิน-พักหนี้-ลดค่าน้ำ-ไฟ โครงการใหม่ ยิ่งใช้ยิ่งได้ จ่าย7พันบ.
            
          เฮลั่น มติ ครม. เคาะมาตรการเยียวยา "โควิด" ระลอก 3 อนุมัติปล่อยกู้ฉุกเฉินรายละหมื่น-พักหนี้-ลดค่าน้ำค่าไฟ 2 เดือน เริ่มทันที ส่วน "เราชนะ-ม 33 เรารักกัน" ให้เงินอีก 2,000 บาท ใช้ได้ถึง มิ.ย. เสนอ ครม. อนุมัติครั้งหน้า ชี้ หลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย ผุดอีก 4 โครงการ วงเงิน 1.4 แสนล้าน ทั้งเพิ่มเงินบัตรคนจน-ช่วยเหลือพิเศษ กลุ่มละ 200 บาท ใช้ถึงสิ้นปี รวมทั้ง "คนละครึ่งเฟส 3" คนละ 3,000 บาท แถมมีโครงการใหม่ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" แจก อี-เวาท์เชอร์ 7,000 บาท ไปใช้จ่ายถึงสิ้นปี ฝั่ง สปส.-ตร. ฟันผิด คนทุจริต "ม 33 เรารักกัน" 7 ราย

          เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายก รัฐมนตรี  และ  รมว.กลาโหม  เป็น ประธาน การประชุม คณะ รัฐมนตรี (ครม.)  ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ ตึกภักดีบดินทร์ มีวาระพิจารณา มาตรการดูแล เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในรอบล่าสุด

          ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แยกเป็นมาตรการที่ทำได้ทันที มีอยู่ด้วยกัน 2 มาตรการย่อย 1.มาตรการทางการเงิน การปล่อยสินเชื่อสู้ภัยโควิด มีกลุ่มเป้าหมาย ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตรที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉินผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินแห่งละ 1 หมื่นล้านบาท รายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี สิ้นสุด 31 ธ.ค. รวมทั้งการพักชำระหนี้ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ไปจนถึง 31 ธ.ค. ตามความสมัครใจ

          2.มาตรการบรรเทาค่าใช้จ่าย ทั้งค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปา ในส่วนของค่าไฟฟ้า จะช่วยสำหรับบ้านอยู่อาศัย  และกิจการขนาดเล็ก เป็นเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือน พ.ค.-มิ.ย. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือนให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก ส่วนบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะได้รับส่วนลด และผู้ใช้ไฟที่เป็นกิจการขนาดเล็ก ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก ด้านค่าน้ำประปา จะลดราคาลง 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก 2 เดือน พ.ค.-มิ.ย. ใช้เงินสนับสนุน 1 หมื่นล้านบาท

          ทั้งนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน มี 2 โครงการ โครงการเราชนะ เป้าหมาย 32.9 ล้านคน โดยขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ สิ้นสุด 30 มิ.ย. กรอบวงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท และ โครงการ ม 33 เรารักกัน เป้าหมาย 9.27 ล้านคน ขยายเพิ่มวงเงินให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. กรอบวงเงิน 1.85 หมื่น ล้านบาท

          นอกจากนี้ยังเห็นชอบมาตรการในระยะที่ 2 จะเริ่มทำเมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. คลี่คลายลง มี 4 โครงการ กรอบวงเงินเบื้องต้น 1.4 แสนล้านบาท 1.โครง การเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 รวม 13.65 ล้านคน โดยให้เงินเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ธ.ค. 2.เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ 2.5 ล้านคน โดยให้เงินเพิ่มเติม เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือนเช่นกัน 3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 อีกไม่เกินคนละ 3,000 บาท และ 4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยรัฐสนับสนุน อี-เวาท์เชอร์ ให้กับประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า ค่าอาหาร และเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยรัฐจะสนับสนุน อี-เวาท์เชอร์ ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. และ สามารถนำ อี-เวาท์เชอร์ ไปใช้จ่ายได้ในเดือนส.ค.-ธ.ค. โดยมาตรการ ระยะ 2 นี้ ประเมินว่า จะครอบคลุมเป้าหมายประชาชน 51 ล้านคน และมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 4.73 แสนล้านบาท

          "ในมาตรการที่ทำได้ทันที มาตรการทางการเงิน และช่วยค่าน้ำค่าไฟ ส่วนมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ทั้ง เราชนะ และโครงการ ม 33 เรารักกัน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบไปดำเนินการและให้เสนอมาอีกครั้งในการประชุม ครม.ครั้งหน้า ขณะที่มาตรการในระยะที่ 2 ตอนนี้ ครม. เห็นชอบหลักการและให้หน่วยงานต่าง ๆ นำมาเสนอในระยะต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

          นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า หากรวมมาตรการทั้งหมดที่รัฐบาลได้ออกนโยบายมาช่วยเหลือ เยียวยาประชาชน และดูแลกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ คิดเป็นวงเงินแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท โดยหลายโครงการยังคงทำอยู่ เช่น เราชนะ และ ม 33 เรารักกัน จะสิ้นสุดเดือน มิ.ย. เช่นเดียวกับการออกซอฟต์โลน และพักทรัพย์พักหนี้ ที่มาช่วยดูแลภาคธุรกิจ ส่วนมาตรการที่ออกมาในครั้งนี้ จะใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งยังมีเพียงพอ

          ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้เลื่อนระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และทัวร์เที่ยวไทย ออกไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

          ต่อมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการพักชำระหนี้สถาบันการเงินของรัฐ จะขยายเวลาพักหนี้ออกไปถึง 31 ธ.ค. เป็นรูปแบบตามความสมัครใจพักชำระเงินต้น เพื่อให้ประชาชนมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจต่อไป นอกจากนี้คลังได้ประสานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อประสานธนาคารพาณิชย์ร่วมกันออกมาตรการพัก ชำระหนี้ของสถาบันการเงินทั้งหมด ซึ่งจะเห็นความชัดเจนเร็ว ๆ นี้ ขณะที่โครงการเราชนะ จะขยายเวลาในการช่วยเหลือ โดยกระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.อนุมัติอีกครั้ง ใน สัปดาห์หน้า

          อีกด้าน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายทักษะศิลป์ อุดมชัย ตัวแทนกลุ่มนักร้อง นักดนตรี อาชีพอิสระ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ทำงานกลางคืนและกลุ่มนักร้อง นักดนตรี อาชีพอิสระที่ได้รับผล กระทบจากโควิด-19 3 ข้อ 1.ล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค เป็นเวลา 15 วัน หรือจนกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ 2.เยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน  และ 3.พักชำระหนี้ทุกระบบจากสถาบันการเงินอย่างเท่าเทียมกันและดอกเบี้ย

          วันเดียวกัน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผบก.สอท.1 และ น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ ผอ.สำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แถลงว่า ตามที่รัฐบาลมีโครงการ "ม33เรารักกัน" เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้ประกันตน แต่กลับพบว่ามีการซื้อขายสิทธิของโครงการเป็นเงินสด โดยไม่มีซื้อขายสินค้า หรือบริการกันจริง ถือเป็นการทุจริตผิดเงื่อนไขของโครงการ สปส.จึงได้แจ้งความเอาผิดต่อพนักงานสอบสวนที่ บช.สอท. ดำเนินคดีกลุ่มผู้ต้องหาทุจริตโครงการ กระทั่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย. รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ 7 ราย มีพฤติการณ์เป็นร้านค้าที่ร่วมโครงการฯ ประกาศชักชวนผ่านเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้นำสิทธิแลกเป็นเงินสดแทนการซื้อของจากร้านค้า

          ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ต้องหา 3 ราย มาพบตามหมายเรียกครั้งที่ 2 พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกง และโทษทางอาญาอื่น ๆ ก่อนวันที่ 30 เม.ย. นำตัวผู้ต้องหาซึ่งให้การรับสารภาพ 3 ราย ไปยังศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลพิพากษาลงโทษ จำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท โดยให้รอลงอาญาโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ให้คืนเงิน 500 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนผู้ต้องหาอีก 4 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ