กนง.คงดอกเบี้ย/ชี้3ปัจจัยเสี่ยง
Loading

กนง.คงดอกเบี้ย/ชี้3ปัจจัยเสี่ยง

วันที่ : 6 พฤษภาคม 2564
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยไว้ที่ ร้อยละ 0.50 ต่อปี
          คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นัดประชุมเมื่อวันที่  5 พ.ค.2564 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

          นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า กนง. ประเมิน แนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว

          ทั้งนี้ โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คือ การจัดหาและการกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์ ส่วนด้านการเงิน มาตรการที่สำคัญ คือ การกระจายสภาพคล่องไปยังธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่  โดยเฉพาะมาตรการ สินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะช่วยลดภาระทางการเงินได้อย่างตรงจุด มากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบัน อยู่ในระดับต่ำ และยังสนับสนุนการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่ เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

          ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งกระทบการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของ นักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการเปิดประเทศ ที่ช้ากว่าคาดและนโยบาย จำกัดการเดินทาง ระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน สำหรับแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ผลดีต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานโดยรวมยังมีจำกัด ขณะที่มาตรการเยียวยาและมาตรการการเงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่แรงกระตุ้นภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 อาจลดลงบ้างจากการเร่งเบิกจ่าย พ.ร.ก. กู้เงินในปีงบประมาณปัจจุบัน

          สำหรับความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ได้แก่ 1.การกระจาย และประสิทธิผลของวัคซีนป้องกัน COVID-19 2.การฟื้นตัวที่ แตกต่างกันและไม่ทั่วถึง ทำให้ตลาดแรงงาน มีความเปราะบางมากขึ้น และส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและการบริโภคภาคเอกชน และ 3.ฐานะการเงิน ที่เปราะบางเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง ขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ ลดลงทำให้ความสามารถในการรองรับ ค่าใช้จ่ายได้ลดลง

          คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญ ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งมาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ โดยมองว่า การฉีดวัคซีนเร็วขึ้นจะช่วยให้จีดีพีขยายตัวได้ร้อยละ 3.0-5.7 ต่อปี ในปี 2564-2567 ขณะที่มาตรการการคลังควรรักษาความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลังและลดผลกระทบของการระบาด รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ