คลัง เตรียมงบ3แสนล้านเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจ
Loading

คลัง เตรียมงบ3แสนล้านเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจ

วันที่ : 27 เมษายน 2564
กระทรวงการคลัง อัดฉีดงบ 3เเสนล. ฟื้นฟูศก.จากผลกระทบโควิด
         "คลัง" เตรียมคลอดมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ยันมีงบสำรองรับมือวิกฤตโควิด-19 กว่า 3 แสนล้านบาท เน้นลดภาระประชาชน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ "สุพัฒนพงษ์" แย้มมาตรการรอบใหม่ประกาศ พ.ค. เริ่มใช้ มิ.ย.นี้ ยันไม่กู้เพิ่ม พร้อมออกมาตรการจูงใจคนมีเงินฝากใช้จ่าย ช่วยดันจีดีพี ส่วนการเปิดรับนักท่องเที่ยวเริ่ม ก.ค. เหมือนเดิม ด้านสถาบันจัดอันดับญี่ปุ่น JCR คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ A-

          น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้เร่งดำเนินการในช่วงปลายเดือน พ.ย.2564 หรือควรมีเม็ดเงินเติมลงไปในระบบ 2-3 แสนล้านบาท ว่า กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ด้านต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ และมีการดำเนินมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ส่วนการดำเนินมาตรการ ใดๆ ในระยะต่อไป จะพิจารณาอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

          "รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณสำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟืนฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กว่า 3 แสนล้านบาท โดยในส่วนของมาตรการของกระทรวงการคลังที่จะพิจารณาดำเนินการ จะเป็นการช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ลดภาระของประชาชน กระตุ้นการใช้จ่าย และการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป" น.ส.กุลยากล่าว

          นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลได้จัดเตรียมไว้แล้ว จะประกาศให้ทราบในเดือน พ.ค.2564 และเริ่มมีผลในเดือน มิ.ย.2564

          ทั้งนี้ รัฐบาลยังต้องการให้คนที่มีเงินฝากจำนวนมากออกมาใช้จ่ายช่วยชาติ โดยจะมีแรงจูงใจให้กับคนที่มีเงินฝาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นมาตรการ ในลักษณะคนละครึ่ง หรืออาจจะเป็นคนละเสี้ยวคนละค่อน เพราะขณะนี้ พบตัวเลขในบัญชีเงินฝากของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นหลายแสนล้านบาท หรือประมาณ 5-6 แสนล้านบาท หากอยากให้จีดีพีเป็นไปตามเป้าที่ 4% คนไทยก็ต้องช่วยกันออกมาใช้จ่าย ช่วยกันบริโภค ซึ่งยอดเงินฝากนี้ หากเปลี่ยนเป็นจีดีพี ก็จะอยู่ที่ 3% หากมีการใช้จ่ายเพียงแค่ 1 ใน 3 หรือครึ่งหนึ่งของยอดเงินดังกล่าว จะมีส่วนช่วยผลักดันตัวเลขจีดีพีได้มากถึง 1%

          "หากได้ยอดการใช้จ่ายส่วนนี้มาช่วย จะมีส่วนช่วยผลักดันตัวเลข จีดีพีได้มากถึง 1% เมื่อรวมกับการประเมินจากภายนอกว่าเศรษฐกิจไทย จะโตอยู่ที่ 2.7% ก็จะทำให้ตัวเลขจีดีพีทั้งปีเป็นไปตามเป้า 4% ได้ อยากให้คนไทยกลุ่มนี้รักประเทศไทยและต่างมาช่วยกันใช้จ่าย มีความใจบุญ เอื้ออาทร ร่วมดูแลคนที่ด้อยโอกาสกว่า ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

          นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า สำหรับแผนเปิดรับนักท่องเที่ยว ยังไม่มีการพิจารณาใหม่ แต่ต้องรอดูสถานการณ์ภายในสัปดาห์นี้ที่น่าจะรู้ทิศทางได้ เบื้องต้นยังกำหนดเป็นช่วงเดือน ก.ค.2564 เช่นเดิม ส่วนที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับลดเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวลงจากเดิมประเมินว่าคนไทยจะมีการท่องเที่ยว 120 ล้านคนครั้ง จากเดิม 160 ล้านคนครั้งนั้น ถือเป็นการประเมินช่วงนี้ แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น คนก็จะมีความมั่นใจและกลับไปเที่ยวเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิมได้

          ส่วนเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงกว่าครึ่ง จาก 6 ล้านคน เหลือ 3 ล้านคน ต้องมองข้อเท็จจริงว่า ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวลดลง

          นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า บริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้และผู้ออกตราสารหนี้ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ A- และยืนยันมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable outlook) เพราะรัฐบาลได้มีมาตรการแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ สามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะ มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ส่วนประเด็นที่ JCR ติดตาม คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง.
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ