โซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือนแหล่งรายได้เสริมของธุรกิจอสังหาฯ
Loading

โซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือนแหล่งรายได้เสริมของธุรกิจอสังหาฯ

วันที่ : 21 เมษายน 2564
ชู โซลาร์รูฟท็อปเสริมรายได้พัฒนาธุรกิจอสังหา
           นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่ารายได้ของผู้พัฒนา อสังหาฯ ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตเพียง 3.6% ต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าที่เคยเติบโตได้ 7.2% เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศโดนกดดันจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ไม่เร็วนัก และหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน ประเทศ (จีดีพี) ส่วนกำลังซื้อของชาวต่างชาติถูกจำกัด จากมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจที่เคยเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับผู้พัฒนา อสังหาฯก็มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าเช่นกัน

            ธุรกิจหลักและธุรกิจเสริมของผู้พัฒนาอสังหาฯ ในปัจจุบันกำลังเผชิญความเสี่ยงจากโควิด-19 ธุรกิจเสริมไม่ว่าจะเป็นอพาร์ทเมนท์หรือโรงแรมต่างก็ได้รับผลกระทบจากการหายไปของนักท่องเที่ยว ต่างชาติ ส่วนออฟฟิศสำนักงานให้เช่าที่กำลังถูก ดิสรัปจากการเวิร์กฟรอมโฮมเป็น New Normal จึงเป็นการยากที่ธุรกิจเหล่านี้จะสามารถช่วย ประคับประคองผลการดำเนินงานได้ ทำให้มองว่าผู้พัฒนาอสังหาฯจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เสริมใหม่"

           นายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมีศักยภาพในการเป็น แหล่งรายได้เสริมให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯได้ เนื่องจาก มูลค่าตลาดมีแนวโน้มสูงถึง 1.37 แสนล้าน ในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยนอกจากกระแสรักษ์โลก และ สิ่งแวดล้อมแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้โซลาร์รูฟท็อปมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นมาจากความ คุ้มค่าที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคา โซลาร์รูฟท็อปที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคารับซื้อไฟที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโควตารับซื้อไฟของภาครัฐ ที่เพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า

           ตั้งแต่ปี 2556 ราคาแผงโซลาร์ในไทยลดลง กว่า 66% ประกอบกับราคารับซื้อไฟของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.2 บาท/หน่วย ทำให้ระยะเวลาคืนทุนจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเร็วขึ้นจาก 17-30.3 ปี ในปี 2556 เหลือ 6.1-13.9 ปี ในปี 2564 และอาจเหลือ เพียง 5.3-12 ปี ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้าเนื่องจากราคาแผงโซลาร์ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประเมินว่ามีครัวเรือนไทยถึง 2.3 ล้านครัวเรือนที่สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและคุ้มทุนได้ค่อนข้างเร็ว หากครัวเรือนกลุ่มนี้เพียง 20% หันมาติดแผงโซลาร์ ก็จะทำให้มูลค่าตลาดสูงถึง 1.37 แสนล้านบาท"

           นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า จากโครงการก่อสร้างของผู้พัฒนาอสังหาฯ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมีบ้านกว่า 1 แสนหลังที่มี โอกาสจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งผู้พัฒนาอสังหาฯ มีข้อได้เปรียบในการนำเสนอ solution ให้กับครัวเรือน เนื่องจากผู้ประกอบการในธุรกิจพัฒนา อสังหาฯ โดยส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์อันดีกับ ลูกบ้านเดิมอยู่แล้วและยังมีความน่าเชื่อถือซึ่งอาจจะทำให้ลูกบ้านกล้าลงทุนในระบบโซลาร์รูฟท็อปที่มีอายุการใช้งานนานถึง 25 ปี ทั้งนี้ กลยุทธ์ ที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ สามารถเข้าสู่ตลาดได้เร็วคือการเป็นพันธมิตรกับบริษัทรับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ดังเช่นกรณีของบริษัท Stockland ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ในออสเตรเลีย เป็นต้น
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ