รัฐสปีดลงทุนสู้โควิด ดึงเอกชน PPP เมกะโปรเจ็กต์ปลุก ศก.
Loading

รัฐสปีดลงทุนสู้โควิด ดึงเอกชน PPP เมกะโปรเจ็กต์ปลุก ศก.

วันที่ : 26 มีนาคม 2564
รัฐบาล เร่ง ลงทุน เมกะโปรเจ็กต์ปลุก ศก.
          เมื่อประเทศไทยได้วัคซีนมาฉีดบรรเทาสถานการณ์การระบาดการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันประเทศแล้ว หลังจากนี้คงต้องถึงเวลาที่ต้องหันมาดูการลงทุนโครงการ ต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าคู่ขนานกันไป

          แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะย้ำเสมอ ไม่ได้หยุดหรือชะลอการลงทุนแต่อย่างใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แทบจะ ไม่มีการเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ นับตั้งแต่เสร็จสิ้นการประมูลบิ๊ก โปรเจ็กต์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

          โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง ที่ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" ขุนคลังรัฐบาลประยุทธ์ จัดลำดับเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ที่จะกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจโดยรวม ของประเทศ

          "อาคม" กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2564 มีการหารือกันจะให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงาน ทำรายละเอียดโครงการที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP เพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มบทบาทการลงทุนจากภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น และลดภาระงบประมาณของรัฐ

          "ครม.กำชับให้ไปดูว่าโครงการไหน ที่สร้างเสร็จแล้ว ก็ให้เร่งรัดเปิดบริการโดยเร็ว เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน"

          จากข้อสั่งการของ ครม. ล่าสุด "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" เจ้ากระทรวงคมนาคม ได้เด้งรับนโยบายดังกล่าว โดยระบุว่า การประชุม ครม.ทาง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ไปดูโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่สมัย คสช.ว่า มีโครงการใดที่พร้อมจะเปิดให้บริการได้บ้าง เพื่อให้มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยง และให้ไปเร่งรัดกระบวนการ ในเบื้องต้น ในปีนี้ จะมีโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ที่พร้อมจะเปิดให้บริการได้

          ในวันที่ 26 มี.ค. 2564 จะเริ่มการทดลองเดินรถเสมือนจริง หลังจากนั้นประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อมาที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อเข้ามาร่วมทดลองใช้บริการก่อนได้ แต่ขบวนรถจะไม่ได้วิ่งทั้งวัน วิ่งตามรอบที่ต้องทดสอบการเดินรถ ซึ่งตามแผนในวันที่ 28 ก.ค. 2564 จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการอย่างไม่เป็นทางการ (soft opening) และเปิดบริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในเดือน พ.ย.นี้

          อีกโครงการจะเป็นมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ที่กำลังแก้ปัญหาการปรับแบบอยู่ แต่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 นี้ จะเปิดเป็นช่องทางพิเศษช่วงลำตะคอง ระยะทางกว่า 30 กม. ให้ประชาชนได้ใช้บริการในระหว่างวันที่ 8-19 เม.ย. 2564 เพื่อบรรเทาการจราจร

          "กรมทางหลวงรายงานว่า สามารถเปิดให้ใช้งานได้ 2 เลน แบบวันเวย์เป็นการชั่วคราว คือช่วงต้นเทศกาลระหว่างวันที่ 9-13 เม.ย.ก็เปิดเป็น ขาออก และส่วนปลายของเทศกาล วันที่ 14-19 เม.ย.จะเปิดเป็นขาเข้า ให้กรมทางหลวงดูเรื่องความปลอดภัย ไฟฟ้าส่องสว่าง และทางขึ้นลงที่ไม่อันตรายต่อประชาชน ต้องยอมรับว่าแม้ช่วงนี้จะสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังมีเรื่องงานติดตั้งระบบต่าง ๆ ที่ต้องทำต่อ"

          นายศักดิ์สยามยังระบุอีกว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP กระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ หลังเกิดการระบาดโรค โควิด-19 ในปี 2564 จะผลักดันและเร่งรัดการลงทุน PPP อย่างน้อย 3 โครงการ วงเงินรวม 127,231.37 ล้านบาท

          ได้แก่ 1.โครงการมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 19,700 ล้านบาท หลังจากที่ประชุม ครม.เห็นชอบดำเนินงานก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 จะเริ่มสร้างภายในปีนี้ จากนั้นจะเสนอรูปแบบการลงทุนงานระบบเก็บค่าผ่านทาง (O&M) จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP

          2.โครงการต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. เงินลงทุน 39,956 ล้านบาท อยู่ระหว่าง การศึกษาความเหมาะสมรูปแบบ PPP จะแล้วเสร็จภายในปีนี้

          และ 3.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง รวมวงเงิน 67,574 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชันศิริราช 4.3 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และสาย missing link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท ซึ่งจะผลักดันภายในปีนี้ ขณะนี้ ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP จะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

          นอกจากนี้ยังมีโครงการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) 10 เส้นทาง ขณะนี้พิจารณานำร่อง 3 เส้นทาง 1.เส้นทาง MR5 ชุมพร-ระนอง 108 กม. โดยการศึกษาจะสอดคล้องกับแนวทางการศึกษาความเหมาะสมโครงการแลนด์บริดจ์ของกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.

          2.เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง 288 กม. กรมทางหลวงคาดว่าการพัฒนาจะประกอบด้วย ด่านเข้าออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 11 แห่ง อุโมงค์ 3 แห่ง และจุดพักรถ (rest area) 8 แห่ง และ 3.เส้นทาง MR9 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี 440 กม. การพัฒนาจะประกอบด้วย ด่านเข้าออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 9 แห่ง และ rest area 8 แห่ง

          "ครม.กำชับให้ไปดูว่าโครงการไหน ที่สร้างเสร็จแล้ว ก็ให้เปิดบริการโดยเร็ว รวมทั้งโครงการของคมนาคมและพลังงาน ที่จะให้เอกชนร่วมลงทุนเพิ่มเติม"   อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

          "มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โครช จะเปิดเลนพิเศษในช่วงเทศกลสงกรานต์ ส่วนการลงทุนมีอย่างน้อย 3 โครงกร ที่จะเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนปีนี้"  ศักดิ์สยาม ชิดชอบ