คมนาคม เร่งเคาะ2ท่าเรือ แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง
Loading

คมนาคม เร่งเคาะ2ท่าเรือ แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง

วันที่ : 16 มีนาคม 2564
คมนาคมเร่งเครื่องลงทุนแลนด์บริดจ์ หวังดันแลนด์บริดจ์ ขึ้นแท่นฮับขนส่งน้ำมันดิบ
          "คมนาคม" เร่งสร้าง 2 ท่าเรือ ชุมพร-ระนอง เคาะทำเลที่ตั้ง มิ.ย.นี้ หวังดันแลนด์บริดจ์ ขึ้นแท่นฮับขนส่งน้ำมันดิบ ชี้ดีมานด์ผ่านทางช่องแคบมะละกา 16 ล้านบาร์เรลต่อวัน

          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยง การขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) โดยระบุว่า ที่ประชุม ได้เร่งรัดสำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกทำเลที่ตั้ง โครงการพัฒนาท่าเรือชุมพร และระนอง เพื่อเชื่อมการเดินทางฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย

          โดยการคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งนั้นจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ คาดว่าจะสามารถสรุปผลการคัดเลือกได้ในช่วงประมาณเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนที่กรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะดำเนินการ ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบ เบื้องต้น แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษ และทางรถไฟตามกรอบการดำเนินการ โครงการ MR-MAP เชื่อมต่อท่าเรือ สองฝั่ง

          สำหรับเป้าหมายของการเร่งรัดศึกษาทำเลก่อสร้างท่าเรือดังกล่าว เนื่องจากการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานในโครงการแลนด์บริดจ์ ต้องคำนึงถึงภาพรวมในการขนส่งทางทะเลของโลก ซึ่งในปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางหลัก

          โดยจากสถิติการขนส่งสินค้า ประเภทน้ำมันดิบในปี 2559 พบว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตจากพื้นที่ ตะวันออกกลาง ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมระหว่าง อ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน ประมาณ 19.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน และผ่านทางช่องแคบมะละกา ประมาณ 16.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อขนส่งไปยังประเทศ แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้ท่าเรือสิงคโปร์กลายเป็น ท่าเรือที่มีคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือน้ำมันใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ