ทุบจีดีพีเบาสุด 1% แรงสุดลด 4%
Loading

ทุบจีดีพีเบาสุด 1% แรงสุดลด 4%

วันที่ : 16 มกราคม 2564
ธปท. จ่อปรับจีดีพี ลดลงประมาณ 1-1.5%
           ธปท.ห่วงแรงงาน 4.7 ล้านคนซมพิษโควิดรอบ 2

          "แบงก์ชาติ" ชี้แรงงานไทย 4.7 ล้านคน เจอผลกระทบหนักโควิด-19 ระลอกใหม่ 1.2 ล้านคน มีสิทธิตกงาน-เสมือนว่างงานอีก 3.5 ล้านคน รายได้ลดรุนแรง ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจไทย 3 แนวทางกรณีดีสุดคุมได้ใน 4 เดือน-ไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ กระทบเศรษฐกิจ 1- 1.5% ส่วนกรณีร้ายสุด 6 เดือนคุมไม่อยู่กระทบเศรษฐกิจไทย 3-4% แต่ถือว่าภาพรวมยังดีกว่า ช่วงตกต่ำสุดในการระบาดรอบแรก เม.ย.63 ที่ผ่านมา

          นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการประเมินภาพการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยระบุว่า จากการประเมินภาพรวมกิจกรรมเศรษฐกิจของคนไทยในช่วงการระบาดระลอกใหม่ พบว่าสถานการณ์การระบาดในไทยกระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่ารอบแรก แต่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่า และเห็นการพัฒนาการของวัคซีนชัดเจนมากขึ้น มีกำหนดเวลา และจำนวนวัคซีนที่ได้รับ ซึ่งทำให้ ธปท.คาดว่าผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบก่อน

          ทั้งนี้ เหตุที่คาดว่าผลกระทบโดยรวมจะไม่เท่าครั้งก่อนหน้านั้น มาจากการเลือกใช้มาตรการที่เข้มงวดน้อยกว่าของรัฐบาล หรือที่เรียกว่ามาตรการเข้มข้นระดับปานกลาง ขณะที่ประชาชนมีความเข้าใจและความกังวลต่อการระบาดลงกว่าครั้งที่ผ่านมา ขณะที่ความพร้อมในด้านสาธารณสุขของไทยทั้งการตรวจหาผู้ติดเชื้อ และความสามารถของโรงพยาบาลในการรองรับผู้ติดเชื้อมีมากกว่าการระบาดในระลอกแรก รวมทั้งการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ผลกระทบและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะแตกต่างกัน ตามความเข้มข้นของการใช้มาตรการ รวมทั้งจะแตกต่างกันตามพื้นที่การระบาด กลุ่มธุรกิจและกลุ่มแรงงาน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสถานการณ์ขณะนี้พบว่า พื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวดสูงสูด 28 จังหวัดนั้น ครอบคลุมสัดส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงเกินครึ่งของประเทศ

          ทั้งนี้ ธปท.ได้ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดระลอกใหม่ไว้ใน 3 กรณีขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ลุกลามมากน้อยและความรุนแรงในการใช้มาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยกรณีแรก ซึ่งเป็นกรณีที่ทุกฝ่าย รวมทั้ง ธปท.มองว่าจะเกิดได้มากที่สุด คือ การใช้มาตรการควบคุมระดับปานกลาง หรือระดับที่เป็นอยู่ในขณะนี้ต่อเนื่อง 2 เดือนคือเดือน ม.ค.-ก.พ. และลดความรุนแรงของมาตรการลงแต่ยังควบคุมอยู่ในเดือน มี.ค.-เม.ย. และสถานการณ์การแพร่ระบาดควบคุมได้ กรณีนี้จะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระทบให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีของไทยปี 64 ปรับลดลงประมาณ 1-1.5%

          กรณีที่ 2 หากรัฐบาลเพิ่มความเข้มงวด โดยปรับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเหมือนในเดือน เม.ย.63 และลดมาตรการลง แต่เข้มกว่าในกรณีแรก ซึ่งคาดว่าจะคุมการระบาดของโควิดได้ภายใน 3 เดือน หรือภายในเดือน มี.ค.กรณีจะมีผลกระทบต่อจีดีพีไทยปีนี้ให้ลดลง 2-2.5% กรณีที่ 3 กรณีร้ายแรงที่สุด คือ รัฐบาลใช้มาตรการคุมเข้มระยะปานกลาง 1 เดือน แต่คุมสถานการณ์ไม่ได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น จนต้องกลับมาล็อกดาวน์ประเทศเข้มข้น ซึ่งจะลดการแพร่ระบาดรอบนี้ลงได้ในเวลา 6 เดือน กรณีนี้จะกระทบให้จีดีพีของไทยในปีนี้ลดลง 3-4%

          นางสาวชญาวดี กล่าวต่อว่า ธปท.ยังกังวลอีกส่วนจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้คือตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง ซึ่งมีมาตรการควบคุมเข้มงวด โดย ธปท.คาดว่าจะมีแรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบในระลอกใหม่นี้จะมีประมาณ 4.7 ล้านคน โดย 1.2 ล้านคนจากกลุ่มนี้ จะเป็นผู้เสมือนว่างงาน (มีจำนวนชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ซึ่งยากลำบากต่อการดำรงชีพ โดยเป็นลูกจ้างรายวันนอกภาคเกษตรจำนวน 500,000 คน อาชีพอิสระนอกภาคเกษตร 600,000 คน และลูกจ้างในสาขาโรงแรม ที่มีความเสี่ยงตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คน ขณะที่แรงงานส่วนที่เหลืออีก 3.5 ล้านคนนั้น จะประสบปัญหารายได้ลดลงอย่างรุนแรง

          นอกจากนั้นในด้านกลุ่มธุรกิจนั้นจะมีกลุ่มธุรกิจเดิมที่เคยได้รับผลกระทบในช่วงล็อกดาวน์ครั้งก่อน แต่เริ่มดีขึ้นในช่วงผ่อนคลาย กลับมาได้รับผลกระทบรอบนี้อีกครั้ง คือ การค้า ร้านอาหาร พื้นที่ค้าปลีก และธุรกิจผลิตอาหารบางประเภท ขณะที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักในช่วงที่ผ่านมา และยังไม่เริ่มฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการแต่กลับมากระทบหนักอีกครั้งคือ ธุรกิจที่พักแรมธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร คอนโดมิเนียมในที่ที่มีความต้องการซื้อต่ำกว่าจำนวนที่ขายการระบาดรอบแรก ทำให้ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจน้อยลง ซึ่งอาจทำให้ผลกระทบรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น การช่วยเหลือภาคธุรกิจ และแรงงานอย่างทันการเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ