ฝันค้างแทรมภูเก็ตเหลือบีอาร์ที
Loading

ฝันค้างแทรมภูเก็ตเหลือบีอาร์ที

วันที่ : 6 พฤศจิกายน 2563
คมนาคมปรับแบบแทรมภูเก็ต
          ศักดิ์สยามสั่งปรับแบบลดต้นทุน ประหยัดกว่าหมื่นล้านชงครม.ปีนี้

          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รายงานความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า รางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติ-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. วงเงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.) สัญจร ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับทราบ โดยขณะนี้ได้มอบ รฟม.ไปพิจารณาปรับรูปแบบระบบการเดินรถ เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้างซึ่งปัจจุบันเมืองใหญ่ ๆ ในต่างประเทศ ก็ปรับมาใช้รถเมล์ไฟฟ้า (EV) ล้อยางกันแล้วช่วยประหยัดค่าก่อสร้างได้หมื่นกว่าล้านบาท ไม่ต้องทำระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณอีกทั้งยังเกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะค่าโดยสารถูกลง

          นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า รฟม. กำลังออกแบบ รายละเอียดโครงการ ยังปรับปรุงได้ในร่างเงื่อนไขเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ก็ไม่ได้ปิดกั้นว่าต้องเป็นแทรมเท่านั้นเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนก็ควรเปลี่ยนการเดินรถรูปแบบเดิม ๆ ที่มีราคาแพงและความคุ้มค่าน้อย เพราะดูผลการศึกษาล่าสุดก็พบว่ามีผู้ใช้บริการเพียงแค่ประมาณ 3.9 หมื่นคนต่อวัน การปรับ รูปแบบน่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่นานว่าจะเลือกใช้รูปแบบใดแทนแทรม เบื้องต้นน่าจะเป็นรูปแบบรถเมล์บีอาร์ที แต่เป็นแบบ ไฟฟ้า วิ่งตามแนวเกาะกลางถนนคาดว่าจะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบได้ภายในปี 63 และมีแผนเปิดบริการปี 69

          นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า การใช้พื้นที่เกาะกลางถนน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรซึ่ง รฟม. ได้หารือกรมทางหลวง (ทล.) แล้ว จะรื้อเกาะกลางออกทำผิวจราจรใหม่และใช้แบริเออร์กั้นระหว่างเลนของรถเมล์บีอาร์ทีและรถยนต์ทั่วไป แต่สิ่งที่ รฟม.ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ การสร้างสถานีให้ผู้โดยสารเข้าใช้บริการ ต้องปรับแบบเพิ่มเติมหรือไม่ และบางแห่งยังใช้พื้นที่เป็นเชิงพาณิชย์ได้ด้วย นอก จากนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าเมื่อ รถถึงทางแยกต้องปรับเป็นแบบใด เช่น ทำเป็นอุโมงค์ลอด หรือหากจะให้ประหยัดเงินมากขึ้นควรใช้เพียงแค่การบริหารสัญญาณ ไฟจราจรต้องให้รถเมล์บีอาร์ที ไปก่อน

          นายศักดิ์สยาม กล่าว ด้วยว่า ส่วนเรื่องเส้นทางเดินรถและจำนวนสถานีนั้นยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงโดยมีระยะทางประมาณ 42 กม. และมี 21 สถานี ในอนาคตยังมีแผนให้โครงการนี้เชื่อมกับรถไฟที่จะไปพังงาที่บริเวณท่าอากาศยานภูเก็ตด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไป จ.พังงา มีระยะทางประมาณ 4 กม.

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ โครงการแทรมภูเก็ต แนวเส้นทาง โครงการฯ เริ่มจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ไปตามทางหลวง หมายเลข 4031 (แยกศาลาแดง-แยกหมากปรก) เชื่อมทางหลวงหมายเลข 4036 (แยกเหนือคลอง-แหลมกรวด) เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 402 (โคกกลอย-เมืองภูเก็ต) เพื่อเข้าเมืองภูเก็ต จากนั้นผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร ข้ามสะพานสารสินมุ่งหน้าสถานีปลายทางท่าเรือฉลอง
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ